กกร. GDP 2564 เศรษฐกิจไทย โอมิครอน

กกร. คาดการณ์ GDP ปี'65 โต 3-4.5% ส่งออก 3-5% ชี้ “โอมิครอน” ความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก

อัปเดตล่าสุด 8 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 1,467 Reads   

กกร. คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2564 อยู่ในกรอบ 0.5% ถึง 1.5% ส่งออกปรับเพิ่มการขยายตัวที่ 13% ถึง 15% ชี้ “โอมิครอน” ความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกช่วงต้นปี 2565 ซึ่งอาจทำให้ไทยใช้เวลาฟื้นเศรษฐกิจนานมากขึ้น

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนธันวาคม 2564 โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ะบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ขณะนี้บ่งชี้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถติดต่อไปยังผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่งผลให้หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการจำกัดการเดินทางหรือมาตรการจำกัดกิจกรรมอีกครั้ง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยทั้งภาคการส่งออกและภาคบริการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ “โอมิครอน” อาจทำให้การฟื้นตัวต่อจากนี้ไปได้รับผลกระทบและต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่งเริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังการเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. ดังนั้น “โอมิครอน” จึงกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี 2565 นอกเหนือจากความท้าทายที่มีอยู่เดิม ดังนั้น จำเป็นต้องจับตาปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความรวดเร็วของการแพร่ระบาดซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในปี 2565 แม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุข และการเข้า-ออก ประเทศที่มีความเข้มงวด อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเห็นว่าไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป ทุกภาคส่วนควรปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ซ้ำเติม เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากบทเรียนของการล็อกดาวน์ว่ามีต้นทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมสูงมาก ทั้งผลกระทบโดยตรงจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทางอ้อมจากการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการ 

ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปีหน้าน่าจะเติบโตที่ 4-5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกจะมีการขยายตัวต่อจากปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2% ถึง 2.0% ซึ่งมาจากแนวโน้มของสินค้า Commodities มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และปีหน้าสิ่งที่ต้องจับตามองอีกเรื่องคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อง Geopolitics ของหลายประเทศ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565 จำเป็นต้องมีนโยบายสำหรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นที่การฟื้นตัวล่าช้าออกไปภาคธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่พร้อมเพรียงกัน (K-shaped recovery) มาตรการพยุงเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็น นอกจากนี้ สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวควรแก้ไขโดย เร่งขึ้นทะเบียน และมี การจัดสรรวัคซีนให้ เพราะในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอมากขึ้น โดยในระหว่างนี้ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนรีบมาฉีดวัคซีน เพราะอัตราผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

ในส่วนเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ที่ประชุม กกร. คงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 0.5% ถึง 1.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 13.0% ถึง 15.0% อันเนื่องมาจาก Demand เพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาคือการการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%
 
 
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564-2565 ของ กกร.
 
%YoY

ปี 2564

(ณ พ.ย. 64)

ปี 2564 

(ณ ธ.ค. 64)

ปี 2565

(ณ ธ.ค. 64)

GDP  0.5 ถึง 1.5 0.5 ถึง 1.5 3.0 ถึง 4.5
ส่งออก 12.0 ถึง 14.0 13.0 ถึง 15.0 3.0 ถึง 5.0
เงินเฟ้อ 1.0 ถึง 1.2 1.0 ถึง 1.2 1.2 ถึง 2.0
 
 
สำหรับประเด็นของ กกร. ที่ได้หารือกันในวันนี้ นอกจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังได้มีการคุยถึงประเด็นดังต่อไปนี้
 
1. เรื่องการเร่งปฏิรูปกฎหมาย (กีโยติน) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง โดย กกร.ร่วมกับ คณะกรรมการกิโยติน และ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ ซึ่งทาง กกร จะมีการแถลงความคืบหน้าของการทำงานร่วมกันอีกครั้ง

2. กกร. ได้หารือและพิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่ได้มีการปรับปรุงล่าสุด (ฉบับที่ 2) ยังมีความกังวลในด้านการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใช้แล้วและรถจักรยานยนต์ รวมถึงเงื่อนไขการคืนรถ จบหนี้ ซึ่งยังส่งผลกระทบวงกว้างเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำ และภาคบริการ ตลอดจนการจ้างงาน จึงขอเสนอให้ สคบ.พิจารณาให้เป็นไปตามข้อเสนอของ กกร. ตามหนังสือลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

3. กกร. เห็นชอบในการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุน SME ในการสร้าง Innovation ใหม่ๆ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมได้สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี (2565 - 2567) เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท โดยภาคเอกชนเสนอภาครัฐให้สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

 

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #COVID-19 #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH