สัมภาษณ์พิเศษ Mr. Mitsuo Okamoto ผู้บริหารสูงสุด ของ AMADA Group

อัปเดตล่าสุด 4 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 3,644 Reads   

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 AMADA Asia Pacific ร่วม AMADA Thailand ได้เชิญลูกค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนและสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยี AMADA ASEAN Technical Center ในวาระครบรอบ 1 ปี  โดย Mr. Mitsuo Okamoto Chairman & CEO ของ AMADA Group ได้เผยวิสัยทัศน์และนโยบายด้านยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในระยะถัดไป


ธุรกิจของ Amada (อะมะดะ)

บริษัทฯ ของเราเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับงานโลหะจากประเทศญี่ปุ่น โดยก่อตั้งในปี 1946 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 73 ปี แล้ว โดยผมได้เข้ามาบริหารงานในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดตั้งแต่ปี 2000 และได้ขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันเรามีบริษัทในเครือรวม 90 บริษัท และมียอดขายรวมอยู่ที่ 3 แสนล้านเยน

ผลิตภัณฑ์หลักของ Amada เป็นเครื่องจักรสำหรับงานโลหะแผ่น (Sheet Metal Fabrication) ซึ่งมากถึง 70% ของธุรกิจโดยรวม และส่วนที่เหลือเป็นเครื่องจักรสำหรับงานกัดกลึงโลหะ (Machine Tools) และเครื่องเชื่อมความละเอียดสูง (Precision Welding Machine)


ความน่าสนใจของภูมิภาคอาเซียน

“เราให้ความสนใจกับภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมาก เนื่องจากจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เพราะความต้องการใช้เครื่องจักรสำหรับงานโลหะแผ่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อมีการขยายตัวของเมืองหรือที่อยู่อาศัย เช่น การก่อสร้างตึกและอาคาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ (Infrastructure) เพราะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานโลหะแผ่นมักจะเป็นสิ่งที่เราต้องใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น นำเครื่องจักรของเราไปใช้ในโรงงานผลิตลิฟท์ เป็นต้น ดังนั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงมีศักยภาพในการสร้างยอดขายที่ดีได้


ทำไมเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง AMADA ASEAN Technical Center สำหรับภูมิภาคอาเซียน

เดิมที Regional Head Quarter หรือ RHQ ซึ่งก็คือ สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของเราตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ และในเดือนสิงหาคม 2016 เราได้ย้าย RHQ มาที่ประเทศไทย และจัดตั้ง AMADA ASEAN Technical Center ไว้ที่นี่ด้วย โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2017 พร้อมกับควบรวมสามธุรกิจหลักเข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ เครื่องจักรงานโลหะแผ่น (Sheet Metal), เครื่องจักรสำหรับงานกัดกลึงโลหะ (Machine Tools) และเครื่องเชื่อมความละเอียดสูง (Precision Welding Machine)

AMADA ASEAN Technical Center ครบรอบ 1 ปี

การตัดสินใจเช่นนี้เป็นเพราะเราเห็นศักยภาพของประเทศไทยทั้งด้านความพร้อมและโอกาสทางธุรกิจในการจัดตั้งที่นี่ให้เป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน และด้วยศักยภาพของตลาดในประเทศไทยเองก็นับว่าดีมาก ซึ่งยอดขายเมื่อปีที่แล้วเราได้รับออเดอร์จำนวนมากสำหรับเครื่องจักรที่มีระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรที่มีความเที่ยงตรงสูง (High Accuracy Machine) ก็เป็นสิ่งยืนยันการตัดสินใจของเรา


Technical Center สำคัญอย่างไร

ด้วยยุทธศาสตร์ของเราที่จะขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิศวกรรม ทำให้ Technical Center เป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะศูนย์แห่งนี้จะทำให้ทั้งลูกค้าและพนักงานได้เรียนรู้และฝึกฝนในเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และทำให้เราสามารถเสนอโซลูชั่นที่ดีให้แก่ลูกค้าได้ ด้วยความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมที่เข้มแข็งของเรา ตามคำกล่าวของอะมะดะที่ว่า “ความสำเร็จของลูกค้า คือ ความสำเร็จของเรา” 


AMADA IoT V-factory คืออะไร

AMADA IoT V-factory ถูกคิดค้นขึ้นในปี 2015 จากแนวคิดการปฏิรูปโรงงานสู่ยุค Industry 4.0 ที่เริ่มต้นจากการมองเห็นได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน โดย V-factory จะสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ลูกค้า ด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือ IoT product ที่ช่วยเปลี่ยนสายการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่ IoT smart factory, และ IoT support ที่ช่วยดูแลโรงงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต่อเชื่อม AMADA กับลูกค้าเข้าด้วยกัน 

โดยเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนลูกค้าของเราผ่าน AMADA IoT V-Factory มีดังนี้

  1. การมอนิเตอร์โรงงาน ด้วยเครื่องจักร IoT เราสามารถเรียกดูข้อมูลต่าง ๆได้ เช่น การทำงาน สภาพเครื่องจักร สิ่งสิ้นเปลืองในการผลิต เมื่อเราเห็นภาพได้ถูกต้อง ก็สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วจากทุกที่ในโลก
  2. Manufacturing design ซอฟต์แวร์ที่สร้าง smart program สำหรับกระบวนการผลิตทั้งหมดที่ขับเคลื่อน smart factory ให้มีประสิทธิภาพ
  3. Factory control ที่สร้าง smart schedule ทำให้การทำงานทั้งหมดมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการเห็นภาพโรงงานและสถานการณ์ผลิตจริง เพื่อลดปัญหาจุดติดขัดภายในโรงงาน 
  4. IoT Service ด้วยการรับข้อมูลสภาพเครื่องจักรผ่านทางเน็ตเวิร์ค จึงสามารถทำ preventive maintenance ได้ หรือในกรณีเครื่องจักรเกิดปัญหา AMADA IoT support center สามารถรีโมทเข้าไปที่เครื่องลูกค้าเพื่อหาสาเหตุ จัดเตรียมอะไหล่ที่ต้องใช้ และนัดหมายพนักงานเซอร์วิส นี่คือ smart recovery กู้คืนในเวลาที่น้อยที่สุด
  5. IoT consult โดย AMADA ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอแผนงานที่จะช่วยปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น จึงทำให้สามารถซัพพอร์ตลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ และมีการดูแลข้อมูลให้มีความปลอดภัยสูง

สำหรับโอกาสนี้ เราอยากจะแนะนำ “My V-factory” ซึ่งเป็นสินค้าและแอพพลิเคชั่น IoT แบบใหม่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำระบบ AMADA IoT V-factory มาใช้งานจริง โดยการติดตั้งอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร “V-factory Connecting Box หรือ VC Box” เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากเครื่องจักรด้วยการเชื่อมต่อกับ cloud ทำให้สามารถเช็คข้อมูลต่าง ๆ ได้จากทุกที่ ทุกเวลา โดยใช้คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต หรือ สมาร์ทโฟน ผ่านทาง My V-factory web application จึงทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงาน จะสามารถแชร์ข้อมูลเดียวกันและใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สามารถประเมินประสิทธิภาพการผลิตและผลของการทำงานของแต่ละกระบวนการที่ได้เทียบกับเป้าที่ตั้งไว้ได้อย่างรวดเร็ว


เชื่อมต่อการทำงานทั้งระบบได้อย่างแท้จริง

Amada มีเครื่องจักรสำหรับงานโลหะแผ่นที่ครบวงจร (ตัด-พับ-เชื่อม) เพื่อผลิตงานให้สำเร็จออกมาเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ได้ โดยก่อนที่ Industry 4.0 จะแพร่หลายไปทั่วโลกนั้น Amada มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า ระบบ VPSS (Virtual Prototype Simulation System) อยู่แล้ว ซึ่งระบบนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้การติดตั้ง IoT ลงไปที่เครื่อง เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกันได้ทั้งระบบเป็นไปได้อย่างแท้จริง
การปฎิวัติวิธีการทำงานด้วยระบบ VPSS ของ Amada มีมาตั้งแต่ปี 2000 โดย VPSS ใช้คอนเซ็ปต์ในการสร้างโปรแกรมสั่งงานของทั้งกระบวนการผลิตจากการซิมูเลชั่น (Simulation) ให้เห็นภาพเสมือนจริง เพื่อป้องกันความผิดพลาดและลดเวลาในการเตรียมงาน และใช้เทคโนโลยีทางด้านเน็ตเวิร์คเป็นแกนหลัก เพื่อให้เห็นสภาวะการทำงานจริงในโรงงานแบบเรียลไทม์

เครื่องจักรงานโลหะแผ่น (Sheet Metal)

เทคโนโลยีจากแนวคิด Total Solution

เรามุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ที่หลากหลายได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่า Total Solution อย่างในเรื่องระบบอัตโนมัติ AMADA ได้ให้ความสำคัญและพัฒนามานานกว่า 35 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการพับอัตโนมัติที่ได้รับแรงผลักดันจากเหตุผลด้านความปลอดภัย จึงเป็นข้อพิจารณาที่ดีในการเปลี่ยนจากการใช้หุ่นยนต์ (Robot) มาแทนการทำงานโดยมนุษย์ เราได้คิดค้นโซลูชั่นและฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน ในขณะที่ระบบของเรายังสามารถสร้างความสม่ำเสมอและมีคุณภาพคงที่ สามารถ setup และทำโปรแกรมได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการรองรับการผลิตงานจำนวนน้อย และยืดหยุ่นสำหรับการผลิตชิ้นงานที่มีความหลากหลายได้

อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีในแบบ Total Solution ของเรา นั่นคือ ระบบตัดหรือเจาะชิ้นงานอัตโนมัติ ที่รวมขั้นตอน หรือเรียกว่าการ integrate process และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลด secondary process รวมถึงลดขั้นตอนที่ต้องใช้มนุษย์ลง และนำไปใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีล่าสุด อย่างเครื่องตัดไฟเบอร์เลเซอร์ (Fiber Laser Machine) และเครื่องคอมบิเนชั่นพันช์และเลเซอร์ (Combination Punch and Laser Machine) ที่ติดตั้งระบบหยิบชิ้นงานออกและจัดเรียงแยกชิ้นงาน รวมถึงระบบคลังจัดเก็บ material แบบอัตโนมัติ ที่สามารถ customize ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันได้ 

โดยทั้งหมดนี้ เป็นการออกแบบภายใต้แนวคิด Total Solution ที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่การทำโปรแกรมไปจนถึงได้เป็นชิ้นงานสำเร็จออกมา และนี่คือสิ่งที่เราได้ทำมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

อนาคตของอุตสาหกรรมการผลิต

การปรับปรุงอุตสาหกรรมการผลิต หรือ Monozukuri ในภาษาญี่ปุ่นน่ะครับ ผมมองว่า หลังจากนี้ไปเราจะพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เทียบเท่าประเทศที่เจริญแล้ว ด้วยการเพิ่มเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ลดเวลาการทำงานของพนักงานให้น้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ซึ่งแม้ในประเทศใหญ่เช่นจีนมีความพยายามที่จะพัฒนาในจุดนี้ แต่ด้วยต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 10% ทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้น การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรที่ปลอดภัย แม้แต่ผู้หญิงหรือผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีก็สามารถทำงานด้วยได้อย่างปลอดภัย ทำการเชื่อมโยงภายในโรงงานเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ลด Lead time ไม่เกิดปัญหาคอขวดในการทำงาน รวมถึงเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ เช่น กรณีที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่บริษัทตนไม่สามารถผลิตเองได้ อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจให้เป็นไปตามแนวทางของโลก เช่น กรณีของบริษัทแก๊ซที่ผันตัวเป็นธุรกิจสถานีชาร์จไฟ


คาดการณ์ผลประกอบการ

เราตั้งเป้าหมายการเติบโตในระยะกลาง 3 ปีอยู่ที่ 30% และสำหรับภูมิภาคอาเซียนนี้ เราคาดว่าจะเติบโต 2 เท่าโดยมีแรงขับเคลื่อนจากความต้องการด้านระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรประเภทไฮ-เอ็นด์ (High-End Machine) ซึ่งมี Technical Center เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเสริมสร้างความต้องการดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว