System Integrator จิ๊กซอว์สำคัญของ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์”

อัปเดตล่าสุด 14 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 3,007 Reads   

สำนักข่าว M Report ได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งบุคลากรสำคัญในแวดวงหุ่นยนต์ของประเทศไทยอย่าง ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) และผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงสถานการณ์  System Integrator ของประเทศไทย ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ผลการศึกษาโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ปี 2558 พบว่า “85% ของผู้ประกอบการจำนวน 513 บริษัท จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยครึ่งหนึ่งของ 85% นี้มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติภายใน 1-3 ปี” สิ่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนความต้องการ System Integrator ผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการศึกษาขั้นตอนการใช้งาน เลือกอุปกรณ์หลัก ออกแบบและผลิตอุปกรณ์เสริม เขียนโปรแกรมและจัดขั้นตอนการทำงานของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่จะทำให้ระบบทั้งหมดถูกติดตั้งและใช้ในสายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง


System Integrator (SI) จะกลายเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต

ปัจจุบันประเทศไทยมี SI จำนวน 200 ราย โดยประเมินว่า SI ไทยที่มีความสามารถเทียบเท่ากับ SI ต่างประเทศนั้นมีเพียง 30-40 รายเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลต้องการเพิ่มจำนวน SI ให้มากขึ้นเป็น 1,400 รายภายในห้าปี การเดินทางสู่เป้าหมายนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลายมิติ

 

Lean Automation System Integrators (LASIs Project) 

การพัฒนาโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น โดยการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI) และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย (MOI) ร่วมกับ บริษัท เด็นโซ่คอร์เปอเรชั่น เพื่อฝึกอบรมผู้ประกอบการ SI ให้สามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเสียหายและการผลิตในประเทศไทยผ่านการสาธิต (showcase) สายการผลิตด้วยระบบลีนออโตเมชั่นยุคใหม่ โดยหลักการ Lean Automation นั้นมุ่งเน้นการกำจัดความสูญเปล่าในระบบการผลิตทั้งหมด ก่อนออกแบบและนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ทำให้การใช้งานระบบอัตโนมัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ 
 

Thai Automation and Robotics Association (TARA) 

ทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE) เพื่อช่วยผู้ประกอบการลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยงานสำคัญของสมาคม คือ การรวบรวมข้อมูล SI ทั้งด้านรายชื่อและความเชี่ยวชาญ เพื่อแนะนำแก่ SMEs และโครงการขนาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้ SI ในการพัฒนาระบบ โดยปัจจุบันมี SI จำนวน  72 รายที่เข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แก่ SI ไทย โดยสมาชิก TARA นั้น แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ

  1. Automation
  2. System Integration
  3. Robot application
  4. Vision system
  5. Logistics automation
  6. Software development for Automation and Robotics

 

ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ผ่านมาตรการทางภาษี, มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (BOI), มาตรการทางการเงิน ทำให้คาดการณ์ว่า จะเกิดการลงทุนในการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์  ประมาณ 140,000-150,000 ล้านบาทต่อปี  โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 38 รายยื่นขอรับการสนับสนุนจาก BOI เพื่อลงทุนนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในสายการผลิต ด้วยวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 4-5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ผู้ผลิตหุ่นยนต์เองก็มีความคืบหน้าให้เห็นแล้ว โดยมีการขอรับการสนับสนุนการลงทุนจาก Nachi ประเทศญี่ปุ่น, ANCA ประเทศออสเตรเลีย, และผู้ผลิตแขนกลไทยอีก 4 รายที่มีกระบวนการต้นแบบสำหรับการผลิตแล้ว โดยเน้นไปที่การผลิตแขนกลอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน สำหรับการใช้งานของ SMEs 

ข่าวดีสำหรับ SMEs คือ สินเชื่อดอกเบี้ย 0% 

สำหรับ SMEs ที่ต้องการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตนั้น สามารถขอรับสินเชื่อดอกเบี้ย 0% ได้ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเตรียมงบประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs รายละ 1- 2 ล้านบาท ซึ่งบริษัทที่จะขอรับสินเชื่อนั้นจะต้องมีความพร้อม โดยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยสถานประกอบการ (SHINDAN) กับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยงานในเครือข่าย CoRE

ระบบ SHINDAN เป็นการตรวจสุขภาพของกิจการในการดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการ, การตลาด, การผลิต, การเงิน/บัญชี, และทรัพยากรมนุษย์ ทำให้รู้สถานะการดำเนินธุรกิจ ปัญหาและแนวทางการแก้ไข ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายผลในการจัดทำแผนงานต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนธุรกิจ แผนการตลาด แผนการเพิ่มผลผลิต 

 
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE)

CoRE จะเป็นเครือข่ายเพื่อการพัฒนาบุคลากรและยกระดับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อน ที่เกิดจากความร่วมมือในแนวทางประชารัฐ ระหว่างภาครัฐ สถานการศึกษา และภาคเอกชน ประกอบด้วย 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) 2. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) 3. สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) 4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) 5. มหาวิทยาลัยมหิดล 6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอม เกล้าพระนครเหนือ 7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 10. สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)  โดยตั้งเป้าพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 แบบภายในห้าปี เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงของหุ่นยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการ 1,000 คน และเพื่อฝึกอบรมอย่างน้อย 25,000 คน