ผู้ว่าฯธปท. ห่วงนโยบาย “ประชานิยม” หวังผลการเมืองช่วงสั้น ทำงบขาดดุลยาว12ปี

อัปเดตล่าสุด 7 มี.ค. 2562
  • Share :

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในงานครบรอบ 64 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมอโนมาแกรนด์ ว่าไทยกำลังอยู่ในท่ามกลางเปลี่ยนแปลงสำคัญ อีกไม่กี่สัปดาห์จะเกิดการเลือกตั้ง หลายคนอาจมองว่าจะมาพูดการเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปี เปลี่ยนแปลงไปมาก การส่งออกเติบโตขึ้นมา การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตมาก แต่การส่งออกสินค้าเกษตรกลับ และหันมาส่งออกสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่ามากขึ้นแทน ทั้งนี้ไทยมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกิดใหม่ โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยถือว่าเข้มแข็งมาก สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพียังต่ำกว่าหลายประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมที่ทำสัญญาซื้อไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นกว่า 10 ปีก่อนกว่าเท่าตัว มาอยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ตรงนี้ทำให้ไทยมีกันชนรองรับความผันผวนจากนอกประเทศ ที่นับวันรุนแรงขึ้น ส่วนเสถียรภาพการคลังอยู่ระดับพอใช้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำกว่าหลายประเทศ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงินอยู่ในระดับดี

“ด้วยเสถียรภาพ ดังกล่าวทำให้ไทยมีความเข้มแข็งในหลายมิติ ส่งผลทำให้ไทยสามารถรับมือวิกฤตหลายครั้งตลอด 10 ปี ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก น้ำท่วมใหญ่ ความวุ่นวายทางการเมือง แม้เศรษฐกิจไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการปรับตัวดี ความดีแต่ต้องระมัดระวังในเรื่องศัยภาพเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อรายได้ คุณภาพชีวิต และความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวต่อว่า ถ้ามองย้อนกลับไปไกลกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเคยโตได้เฉลี่ยสูงถึง 4.8% ต่อปี ในช่วง 2542-2551 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3.8% ต่อปี และต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะข้อจำกัดจากโครงสร้างประชากร การจ้างงานของไทยเคยเติบโตเฉลี่ย 1.1% ต่อปี ในช่วง 10 ปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 แต่หลังจากนั้นกลับหดตัวเฉลี่ย 0.1% ต่อปี จำนวนคนไทยในวัยแรงงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 2555 และกำลังลดลงทุกปี หากเรายังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันระบุปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ให้ชัดเจนและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง

นายวิรไทกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายในหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ยังกระจายไม่ทั่วถึง ยังกระจุกตัวของกลุ่มคนรายได้สูง เจ้าของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบเอสเอ็มอีต่างจังหวัด เพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า นอกจากความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจแล้ว ความเหลื่อมล้ำในภาคครัวเรือนก็เป็นปัญหารุนแรงของสังคมไทย ปีที่แล้ว WFF จัดอันดับไทยมีความเหลื่อมด้านสินทรัพย์มากที่สุดในอาเซียน อยู่ในอันดับที่ 97 จาก 106 ประเทศ

นายวิรไทกล่าวต่อว่า แม้ว่าภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจัดว่าค่อนข้างดี แต่ในระดับครัวเรือนนั้นถือว่ายังเปราะบางมากจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนของเรามีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 77.8% ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับเรา ถ้าดูรายละเอียดจะพบว่าเรามีสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูงด้วย และยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นจนถึงวัยใกล้เกษียณ ทำให้เป็นภาระทางการคลัง ครัวเรือนไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนมากขึ้น เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย โดยผลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนตั้งแต่หลายปีก่อน พบว่าคนไทยราว 3 ใน 4 ไม่สามารถออมเงินได้ในระดับที่ตั้งใจไว้สำหรับการเกษียณอายุ และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนการออมอย่างเป็นรูปธรรม หรือกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางแผนการออม ถ้าครัวเรือนไทยไม่สามารถพึ่งพาการออมของตัวเองได้แล้ว ท้ายที่สุดจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของภาครัฐ และบั่นทอนภูมิต้านทานด้านการคลังต่อไป

นายวิรไทกล่าวต่อว่านอกจากภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ภาครัฐยังจะมีภาระด้านประกันสังคม รายจ่ายประจำที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการขยายบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานราชการอีกมาก มีภาระเงินอุดหนุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมไปถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้นๆ ประมาณการฐานะการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณ 12 ปี จึงจะเริ่มมีงบประมาณสมดุลได้ เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะว่าขณะนี้ต้องถือว่าระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับศักยภาพแล้ว แต่ฐานะการคลังของเรายังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล ภูมิต้านทานด้านการคลังของเราอาจจะต่ำกว่าที่หลายคนคิดมาก การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดขนาดของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้ว ภูมิต้านทานด้านการคลังที่เราหวังว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย จะกลายมาเป็นตัวปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต