ค้าปลีกเวียดนาม สุดหิน ต่างชาติแห่ถอนตัว-เจ้าถิ่นโตสะพรั่ง

อัปเดตล่าสุด 26 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 991 Reads   

สนามค้าปลีกเวียดนามเคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของผู้เล่นต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอื่นๆ ซึ่งพยายามทุ่มเม็ดเงินและทรัพยากรรุกเข้าชิงฐานผู้บริโภคในประเทศตลาดเกิดใหม่แห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บรรดายักษ์ค้าปลีกต่างชาติเหล่านี้กลับไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ ตรงกันข้ามผู้ประกอบการเจ้าบ้านกลับมีผลงานโดดเด่น อย่างวินกรุ๊ป (Vingroup) หนึ่งในเครือธุรกิจรายใหญ่ของเวียดนาม และโมบายเวิลด์ อินเวสต์เมนต์ คอร์ปอเรชั่น (Mobile World Investment Corporation) ผู้จำหน่ายโทรศัพท์รายใหญ่ของประเทศ ที่ต่างยังเดินหน้าขยายสาขาร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตต่อเนื่อง

รายงานบริษัทวิจัยคิแอนด์มี ระบุว่า ตั้งแต่เมษายน 2561-เมษายน 2562 จำนวนร้านสะดวกซื้อในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 72% หรือประมาณ 1,300 สาขาภายในปีเดียว ทำให้ปัจจุบันเวียดนามมีร้านสะดวกซื้อรวม 3,100 สาขาทั่วประเทศ

ขณะที่สำนักข่าว “วีเอ็นเอ็กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นนอล” รายงานว่า ปี 2561 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อสัญชาติเวียดนามสามารถขยายตัวแซงหน้าคู่แข่งต่างชาติได้แบบไม่เห็นฝุ่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวินกรุ๊ปที่ขยายสาขา “วินมาร์ทพลัส” (Vinmart+) เพิ่มถึง 660 สาขา ขณะเดียวกัน ยังเข้าซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “ช็อปแอนด์โก”

เมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากซื้อกิจการ “ฟีวีมาร์ท” เชนร้านสะดวกซื้ออีกรายเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ “แบช ฮัว ซันห์” (Bach Hoa Xanh) หน่วยธุรกิจค้าปลีกในเครือโมบายเวิลด์ อินเวสต์เมนต์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งตั้งแต่เริ่มกิจการเมื่อ 4 ปีก่อนได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตไปแล้วกว่า 500 สาขา สร้างรายได้ในปี 2561 กว่า 184 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตถึง 3 เท่าตัวจากปี 2560

ตรงกันข้ามกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่สถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก โดยหลายรายต้องลดจำนวนสาขาหรือปิดกิจการหลังขาดทุนต่อเนื่อง อาทิ “โอชอง” (Auchan) เชนซูเปอร์มาร์เก็ตจากฝรั่งเศสที่ประกาศลดสาขาจาก 18 สาขา เหลือ 3 สาขาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะขายกิจการที่เหลือภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่อีกหลายรายไม่สามารถขยายสาขาได้ตามเป้า เช่น มินิสต็อป (Ministop) เชนร้านสะดวกซื้อจากญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีสาขาเพียง 115 สาขา แม้จะตั้งเป้ามี 800 สาขาในปี 2561 ส่วนแฟมิลี่มาร์ทลดสาขาลง 9 สาขา เหลือ 151 สาขา ทั้ง ๆ ที่มีแผนจะเปิดให้ครบ 1,000 สาขาในปีหน้า

“หู วิน ฟู” อดีตประธานสมาคมซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองฮานอย พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า อาจเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยกับตลาดและผู้บริโภค ทำให้ผู้เล่นต่างชาติไม่สามารถจับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องได้ รวมถึงความท้าทายด้านต้นทุนและการบริหาร ประกอบกับความไม่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐ อาทิ กรณีเชนค้าส่ง เมโทร แคชแอนด์แครี่  (METRO Cash & Carry) ซึ่งถอนตัวจากเวียดนามไปเมื่อปี 2557 เคยถูกหน่วยงานท้องถิ่นเรียกเก็บภาษีย้อนหลังถึง 2.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติโดยลดภาษีให้ 50% ก็ตาม

สภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่าการรุกตลาดค้าปลีกเวียดนามอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และต้องรอดูว่าบรรดาผู้เล่นที่เหลืออยู่จะปรับตัวรับมือความท้าทายนี้อย่างไร