ค้าต่างประเทศ เผยยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP ช่วง 11 เดือนปี 61 มูลค่า 68,779.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.71%

อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 477 Reads   

ค้าต่างประเทศ เผยยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP ช่วง 11 เดือนปี 61 มูลค่า 68,779.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.71% อาเซียนยังคงนำโด่งใช้สิทธิมูลค่าสูงสุด ส่วนการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 4,435.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.18% โดยสหรัฐฯ ใช้สิทธิสูงสุด


นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมอยู่ที่ 68,779.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.71% โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 75.09% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 64,344.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.29% คิดเป็นสัดส่วน 75.89% ของมูลค่าส่งออกที่ได้สิทธิภายใต้ FTA และมูลค่าการส่งออกภายใต้ GSP มูลค่า 4,435.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.18% คิดเป็นสัดส่วน 65.05% ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP

โดยการใช้สิทธิ FTA พบว่า ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 24,765.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 16,217.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 8,571.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 7,028.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 4,099.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 44.64 รองลงมาคือ จีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 26.61 และ 22.98 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้วยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 101.32) 2) ไทย-ออสเตรเลีย (ร้อยละ 89.73) 3) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 89.39) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 88.51) และ 5) ไทย-เปรู (ร้อยละ 87.10) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำตาลจากอ้อย


ทั้งนี้ ในปี 2562 มีความตกลง FTA ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ คือ ความตกลง FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) ที่เพิ่งจะบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาทบทวนกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (PSRs) ส่งผลให้กฎที่ใช้ในการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ของสินค้ากว่า 900 รายการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยสินค้าส่วนใหญ่จะมีกฎที่ยืดหยุ่นขึ้น กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะมีเกณฑ์ในการเลือกใช้ประกอบการพิจารณายื่นขอ Form E กับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนและประเทศอาเซียนอื่นได้มากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้เกณฑ์มูลค่าการผลิตในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 40 (RVC >40%) ได้เพียงเกณฑ์เดียว ก็ได้เพิ่มทางเลือกในการใช้เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร (Change in Tariff Classification: CTC) ที่ไม่ได้จำกัดสัดส่วนมูลค่าของวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศนอกภาคีในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เพียงแต่กำหนดให้วัตถุดิบนำเข้าต้องผ่านการแปรรูปอย่างเพียงพอ และสินค้าที่ส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงพิกัดฯ ในระดับที่กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่ากฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้


นอกจากนี้ ยังมีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) ถือเป็น FTA ใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ โดยกรมฯ ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเตรียมความพร้อมให้บริการ ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารองรับความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว โดยจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกของปี 2562 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในช่วงก่อนความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ รวมทั้งกรมฯ ได้เตรียมจัดอบรม/สัมมนาให้ความรู้ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการยื่นขอหนังสือรับรองฯ เพื่อใช้สิทธิฯ AHKFTA ได้ถูกต้องด้วย

นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ปัจจุบันมี 5 ประเทศที่ให้สิทธิกับไทย คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 11 เดือน การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 89% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 3,967.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.24% มีอัตราการใช้สิทธิ 68.72% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 5,773.40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และเลนส์แว่นตา


อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่กรมฯ ประมาณการไว้ที่ 9% (คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 97.2% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ดังนั้น กรมฯ จึงมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่มีการกระจายตัวในตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ