“Restoring Incomes; Recovering Job ” ผลกระทบโควิดต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย

ธนาคารโลก เผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ชี้ "จะกอบกู้รายได้ ต้องฟื้นฟูการจ้างงาน"

อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 9,745 Reads   

♦ ธนาคารโลก คาดการณ์ปี 2021 GDP ไทยจะเติบโตเฉลี่ย 4.0% แต่หากล็อคดาวน์เข้มข้นเหมือนต้นปีที่แล้ว GDP ไทยจะฟื้นตัวเพียง 2.4% 
♦ ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด มีการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ที่สุดนับจากปี 2009 ในช่วงครึ่งแรกปี 2020 แม้จะฟื้นฟูกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อัตราการว่างงานยังสูงอยู่ ขณะที่ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยลดลง
♦ ยังมีปัจจัยลบจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้ประชากรวัยทำงานลดลงจาก 39 ล้านคนในปี 2020 เหลือ 35 ล้านคนในปี 2040 ส่งผลให้ GDP เฉลี่ยต่อหัวลดลง 0.86%
 

Advertisement

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021 ธนาคารโลกเผยข้อมูล "รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย" ฉบับล่าสุด ผ่าน Facebook Live ภายใต้หัวข้อ “Restoring Incomes; Recovering Job” วิเคราะห์ถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย ร่วมสะท้อนมุมมองจากหลายหน่วยงานรัฐและเอกชน 

เป็นที่ทราบกันได้ทั่วไปว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจไทยไม่ได้พึ่งทรุดตัวจากโควิด แต่มีสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนหน้าการระบาดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการไล่ตามทันของประเทศเพื่อนบ้าน ไปจนถึงปัญหาความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งแม้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว แต่การระบาดระลอกใหม่ในเดือนธันวาคมได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศอย่างรุนแรง

ตามติดเศรษฐกิจไทย จากผลกระทบ COVID-19

Dr. Ndiame Diop ผู้อำนวยการประจำประเทศบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ธนาคารโลก กล่าวแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันโลกยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ซึ่งการทำรายงานของธนาคารโลกก็ได้แสดงผลลัพธ์ที่น่าหดหู่ การฟื้นตัวของผลผลิตก็ไม่เท่ากันในหลายประเทศ รวมถึงการบริโภค การลงทุน และความเสี่ยงอื่น ๆ ซึ่งในประเทศไทยก็พบความเสี่ยงจากการระบาดระลอกสอง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ หากเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ต่ำกว่าการคาดการณ์ บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญมากขึ้น และควรเลือกใช้นโยบายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่เลือกนโยบายที่ทำให้การฟื้นตัวต่ำกว่าที่ควร


ทางด้านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดเผยว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิดส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการวางนโยบายเป็นอย่างมาก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ไทยก็มีความสามารถที่จะควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีในปีที่แล้ว และลดการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างดีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงจากการท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าดีกว่าการคาดการณ์ และต้องเตรียมมาตรการสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากนี้ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดูแลภาคสุขภาพ และการเงินอย่างสมดุลในระยะยาว 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

ในมุมบวก ประเทศไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศ 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สาธารณะ 49.5% ของ GDP ซึ่งแม้ว่าจะมีการกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท แต่ก็จะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงเกิน 60% 

สำหรับในระยะสั้น รัฐบาลต้องพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพราะอุปทานจากต่างประเทศยังมาไม่ถึง ด้วยวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทให้กับครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบรุนแรง ไปจนถึงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคด้วยนโยบายคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ไปจนถึงอุดหนุนค่าน้ำค่าไฟในครัวเรือน พยายามรักษาตำแหน่งงานและหางานให้นักศึกษาจบใหม่ อีกทั้งยังมีโครงการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนในการปรับปรุงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย 

ส่วนในระยะยาว รัฐบาลได้อนุมัติโครงการทางเศรษฐกิจ 233 โครงการ ซึ่งจะใช้งบประมาณจากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมปรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเสนอ เพื่อลดภาระต่อภาคธุรกิจ และ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และพร้อมจะปฏิบัติตามคำแนะนำของธนาคารโลกเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับ 3 อุตสาหกรรม โดยอันดับแรกคือ Digitalization ซึ่งจะเห็นได้จากความสามารถในการปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วในช่วงปีที่แล้ว และมีผู้สูงอายุใช้งานแอปพลิเคชันไทยชนะมากถึง 10%,  อันดับถัดมาคือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และธุรกิจสีเขียว (Green Business) ซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญเพื่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับความกินดี มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ซึ่งรัฐได้โยกย้ายงบประมาณไปใช้ในการสนับสนุนภาคสาธารณสุขมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้ในการบริหารเศรษฐกิจ และพร้อมสนับสนุนทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพรองรับเทคโนโลยีในอนาคต 

และท้ายสุด การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาวจำเป็นต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเนื่องจากจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ การปรับโครงสร้างภาษีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรักษารายได้ภาครัฐให้มั่นคงพร้อมต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจ

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย

ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญานักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยผลวิจัยพบว่า ในปี 2020 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวถึง 6.5% ในขณะที่การบริโภคจะลดลง 1.3% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการป้องกันโรคระบาด ส่งผลให้ตำแหน่งงานและเงินเดือนเฉลี่ยลดลงในปีที่แล้ว ในขณะที่การลงทุนจากเอกชนจะลดลง 4.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน และจะยังลดลงต่อเนื่องในระยะกลาง

สำหรับภาคการส่งออก พบว่าการส่งออกงานบริการลดลงเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับทั่วโลก สืบเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามประเทศและการท่องเที่ยวที่ตกต่ำ ในขณะที่การส่งออกสินค้าก็ประสบปัญหาความต้องการลดลง แม้จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงท้ายปีก็ตาม

ในช่วงไตรมาสที่ 3 พบว่าการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว 6.4% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งดีขึ้นจากในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่หดตัว 12.1% เป็นอย่างมาก และดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน

ในส่วนของภาคการเงิน พบว่าสามารถรับมือกับการระบาดของโควิดได้ อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางขององค์กรและระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออก และมีหนี้ที่มีปัญหา (NPL) ที่สูงเป็นพิเศษจากกลุ่ม SME

หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในถูมิภาคเดียวกันแล้ว พบว่าเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ที่ดีกว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไปจนถึงการกำหนดเป้าหมาย และการปรับตัวของการคลัง ด้วยงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และเศรษฐกิจของประเทศ ไปจนถึงการสนับสนุนผู้ประสบปัญหาในช่วงวิกฤต เช่น การปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายย่อย และอื่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดทำให้การขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไทยมีการขาดดุลมากถึง 5.9% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2020 (สิ้นสุดในเดือนกันยายน) ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณ 2019 ซึ่งอยู่ที่ 2.3% ในขณะที่หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็น 49.4 % ของ GDP ในเดือนกันยายน 2020

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2021 GDP ไทยจะมีการเติบโตเฉลี่ย 4.0% และเติบโตอีก 4.7% ในปี 2022 โดยมีการบริโภคภายในประเทศ และมาตรการทางการเงินจากรัฐเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก เช่น หากมีการระบาดระลอกใหม่ การฟื้นตัวก็จะไม่เป็นไปตามนี้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงการเมือง ความมั่นใจผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดต่ำ ไปจนถึงการบังคับใช้มาตรการ ซึ่งหากมีการล็อคดาวน์เหมือนต้นปี 2020 แล้ว ปี 2021 GDP ไทยจะฟื้นตัวเพียง 2.4% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางด้านปัญหาทางการค้าและซัพพลายเชน ซึ่งอาจส่งผลให้กำลังผลิตในระยะยาวไม่เป็นไปตามที่ควร และจะสร้างผลกระทบต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน หากมีการแจกจ่ายวัคซีนได้เร็ว ก็เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวเร็วกว่าคาดการณ์เช่นเดียวกัน และหากจะฟื้นเศรษฐกิจให้ได้ ก็ต้องฟื้นการจ้างงานเสียก่อน

Harry Edmund Moroz นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก เปิดเผยว่า การระบาดของโควิดทำให้เกิดผลกระทบในตลาดแรงงานไทยอย่างรุนแรง ด้วยอัตราการเลิกจ้างที่พุ่งสูงในช่วงต้นของการระบาด อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว รวมถึงชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ลดลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีการเลิกจ้างงานถึง 340,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 2 เท่าของครึ่งแรกปี 2019 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างครั้งใหญ่ที่สุดนับจากปี 2009 อีกทั้งมีรายได้เฉลี่ยลดลง 1.6% โดยมีเกษตรกร ร้านค้าปลีก และภาคการผลิตเป็นผู้รับผลกระทบรุนแรง


Harry Edmund Moroz นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก 

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังการจ้างงานได้เริ่มฟื้นตัวกลับมาด้วยตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นรวมแล้วราว 850,000 ตำแหน่งในช่วงก่อนเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 1% แต่เมื่อพิจารณาจากทั้งปีแล้วพบว่ายังคงมีอัตราการว่างงานสูงกว่าปี 2019 อีกทั้งยังมีชั่วโมงการทำงานลดลง รวมถึงตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลงเช่นเดียวกัน

อีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจากการคำนวณพบว่าประเทศไทยจะมีประชากรวัยทำงานลดลงจาก 39 ล้านคนในปี 2020 เหลือ 35 ล้านคนในปี 2040 ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของ GDP เฉลี่ยต่อหัวถึง 0.86% โดยธนาคารโลกมีคำแนะนำ ดังนี้

คำแนะนำระยะสั้น

1. ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงิน และการฝึกทักษะ เพื่อให้แรงงานกลับไปทำงานได้
2. ออกนโยบายการจ้างงานใหม่ เช่น การสนับสนุนค่าจ้างเพื่อดึงดูดให้คนมีงานทำ และการสร้างตำแหน่งงานเพิ่มเติม

คำแนะนำระยะยาว

3. สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และะมุ่งเน้นผลลัพธ์มากขึ้น โดยปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะ และปรับปรุงบริการจัดหางานให้ทันสมัย
4. ส่งเสริมการจ้างงานในภาคการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่ความต้องการการดูแลดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และมีความต้องการทั้งแรงงานทักษะต่ำ และแรงงานทักษะสูง
5. สนับสนุนให้การดูแลเด็กเล็กเข้าถึงง่าย และมีค่าใช้จ่ายต่ำ เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงทำงานมากขึ้น
6. เพิ่มความยืดหยุ่นในการเกษียณอายุ ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ให้เหมาะสม และใช้การประเมินจากผลงาน เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกทำงานต่อได้

หลากมุมมองต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทย

ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงของการระบาดรอบแรก ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวลดลงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผลกระทบแต่ละภาคส่วนไม่เท่ากัน โดยก่อนการระบาดครั้งใหม่ธุรกิจร้านอาหารและธนาคารเริ่มฟื้นตัวกลับมาจากช่วงต้นปี ส่วนภาคการผลิตมีการฟื้นตัวรวดเร็วจนเกือบเทียบเท่าก่อนการระบาด ในขณะที่โรงแรมและขนส่งยังกระทบหนัก ซึ่งการระบาดระลอกใหม่ที่เข้ามากระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปี 2022

ในส่วนของความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้น ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ประเมินว่าหากมาตรการภาครัฐมีการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด ก็จะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนัก จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และหากแจกจ่ายวัคซีนช้า ก็อาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าตามไปด้วย

“เราไม่รู้โควิดอยู่นานแค่ไหน ต้องมีนโยบายที่ตรงจุด ช่วยคนที่มีศักยภาพ และจะจัดการกับกลุ่ม Over Supply ยังไง จึงจะตอบโจทย์การเติบโตได้ แม้ต้องอาศัยเวลา”

โดยในช่วงแรกรัฐบาลต้องช่วยทุกรูปแบบ ส่วนช่วงหลังควรปรับเปลี่ยนเป็นช่วยเหลืออย่างตรงจุด ส่วนการพักชำระหนี้ช่วยได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวจนเกินไปอาจทำให้สภาพคล่องเจ้าหนี้หายได้

(จากซ้าย) ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย, และ ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

ทางด้าน ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การระบาดของโควิดเวฟสองทำให้การฟื้นตัวช้าลง คนที่มีทุนน้อยยิ่งได้รับผลกระทบหนัก โดยกลุ่มรายได้ปานกลางไปทางต่ำ และกลุ่มคนจนในเมืองคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสูงสุด รวมถึงคนทักษะปานกลางได้รับผลกระทบหนักจากการสูญเสียรายได้อย่างมาก ในระยะสั้นการหนุนกำลังซื้อและสภาพคล่องจึงมีความจำเป็น ผู้ประกอบการต้องเข้าถึงสภาพคล่องได้จนกว่าโควิดจะสิ้นสุด จากนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวตามลำดับ 

ธุรกิจมีเกิดดับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการผลงานวิจัยพบว่าหากโควิดยังคงอยู่ตลอดไป ก็จะมีภาคอุตสาหกรรมที่ยิ่งได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างโรงแรม ภัตตาคาร และการขนส่ง กลับกันก็มีอุตสาหกรรมที่จะเติบโต เช่น คลังสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ และการสื่อสารทางไกล แต่จะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนด้านการโยกย้ายเงินทุนและแรงงานไปยังอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ไปจนถึงการพัฒนา Soft Infrastructure อย่างวิธีการทำงานระหว่างรัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพ หรือระหว่างรัฐกับรัฐ และย้ำว่าในอนาคต ต้องคิดว่าไทยจะร่วมกับประเทศอื่น ๆ ทำอะไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันความร่วมมือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น

ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่หดตัวหนักเท่าปีที่แล้ว เห็นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันไม่กระทบเท่าช่วงล็อคดาวน์ปีก่อน อีกทั้ยไทยโชคดีที่การคลังก่อนโควิดดีกว่าหลายประเทศ อย่างไรก็ตามยังคงมีความเหลื่อมล้ำในพื้นที่เยอะ นโยบายการคลังในอนาคตจึงต้องเน้นโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ต้องประเมินการใช้เงินให้คุ้มค่า ต้องทบทวนว่าจะใช้ไหม ใช้แล้วคุ้มไหม โดยเฉพาะในยุคที่หลายประเทศไล่เราทันแล้วเช่นนี้

ส่วนทางด้านการลงทุนนั้น ปัจจุบันการลงทุน 19% ของ GDP มาจากเอกชน และอีก 6% มาจากรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเอกชนยังเป็นตัวหลักในการลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงต้องหาทางทำให้เอกชนลงทุนมากขึ้น แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องหลังโควิดเพราะในตอนนี้ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวกลับมา และรัฐคือคนที่จะดึงให้เอกชนลงทุนได้หากมีโครงงสร้างพื้นฐานรองรับ และย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้ชุมชนมีธุรกิจของตัวเอง โดยยกตัวอย่างเทียบประเทศเจริญแล้วซึ่งเห็นได้ว่าโมเดิร์นเทรดไปกับชุมชนได้

สุดท้ายคือ ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ซึ่งแสดงความเห็นว่าโควิดจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์โดยรวมจะพบว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด โดยในระยะสั้นรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ส่วนในระยะยาวนั้นสิ่งสำคัญคือตลาดแรงงาน ซึ่งไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานต่อหัว นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ สนับสนุนการสร้างทางเลือกให้ผู้หญิงและผู้สูงอายุเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนจากภาคเอกชนมีความยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว