กสอ.ผนึกกำลังหอการค้าไทย-องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ยกระดับ SMEs ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

อัปเดตล่าสุด 29 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 477 Reads   

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานแถลงข่าว DIP : Transform For SMEs 4.0 ที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมว่า โครงการ Big Brother Guarantee Success Solution (SMEs Scale up) หรือ โครงการพี่ช่วยน้อง มีมาตรการที่เด่นชัดด้านหนึ่งในปี 2561 คือ การสนับสนุน SMEs ให้เกิดการยกระดับ (Scale up) ด้วยการปรับปรุงคุณภาพและราคาสินค้าให้เหมาะสมสามารถแข่งขันได้ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และราคา โดยนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การตรวจสอบ การขนส่ง การจัดเก็บสินค้าและการควบคุมการผลิตต่างๆ รวมถึงมาตรการจัดการห่วงโซ่คุณค่าการผลิต,มาตรการปรับปรุงกระบวนการผลิต และกลยุทธ์การตลาด เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่บริษัทที่เป็นพี่เลี้ยงต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเน้นพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง (New S-Curve) รวมทั้งยกระดับให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้มีขีดความสามารถที่จะเชื่อมโยงไปยังช่องทางการค้าในระดับสากล

“การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ คาดว่าจะดึงองค์กรธุรกิจชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เด็นโซ่ จำกัด, บริษัทเดลต้า อีเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัทชั้นนำอื่นๆอีกมากมาย โดยคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) กันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561  และสามารถจัดทำหลักสูตรและรับสมัครคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมโครงการได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นจะเป็นการสำรวจวิสาหกิจเป็นรายๆ พร้อมกับการวางแผน การดำเนินงาน และให้คำปรึกษาแนะนำ ไปจนจบโครงการ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถดำเนินการยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางไปสู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้ทั้งหมดประมาณ 70 กิจการ และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 700 ล้านบาท” นายกอบชัยกล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า โครงการ Big Brother Guarantee Success Solution (SMEs Scale up) ทำให้เกิดการความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจชั้นนำหรือประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่จะสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจระหว่างธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยสร้างวิสัยทัศน์การเป็นผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันทางธุรกิจรองรับการปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0 และเกิดเครือข่ายธุรกิจร่วมกับบริษัทชั้นนำของประเทศได้