“อุตตม” ถกเมติญี่ปุ่นพ.ค.นี้ ร่วมมือยกระดับนวัตกรรม

อัปเดตล่าสุด 26 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 438 Reads   

"อุตตม" เตรียมหารือ "เมติ" พ.ค.นี้ รีวิวแผนพัฒนา SMEs ผ่าน 3 โครงการ พร้อมหารือ BOI เพิ่มมาตรการให้สิทธิประโยชน์ หนุน startup ใช้นวัตกรรมใหม่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) มีกำหนดนำคณะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งที่ 2 จากที่เคยมาช่วงเดือน ก.ย. 2560 เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ภายใต้นโยบาย Connected Industries

ใน 3 โครงการหลักที่เน้นพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) คือ

1.โครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) ที่ทางญี่ปุ่นส่ง 60 บริษัท อาทิ ฮิตาชิ โคจิม่าเพรส ไอไอเจ เข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ SMEs ไทย เพื่อจับคู่กับ 33 บริษัท จาก 11 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยี internet of things (IoT) และเชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม)

2.โครงการ Open Innovation Columbus เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการใหม่ (startup) ของญี่ปุ่น-ไทย ในการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม โดยคาดว่าจะใช้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ (new innovation hub) ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเริ่มได้ฟอร์มทีมขึ้นมาคัดเลือก startup ไทย 30 ราย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่กับธุรกิจ (business matching) อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสตาร์ตอัพญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะดึงสตาร์ตอัพประเทศอื่นที่สามารถจับคู่สร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับ startup ไทยได้ด้วย ขณะเดียวกันต้องเชิญ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมหารือเพื่อพิจารณาหามาตรการหรือสิทธิประโยชน์ให้ startup ที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่เข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

3.โครงการ Flex Campus ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกับนักลงทุนไทย ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อช่วยพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทย สำหรับรองรับอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ โดยเป็นการพัฒนาหลักสูตรปีต่อปี เบื้องต้นจะเริ่มพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก่อน

 

อ่านต่อ: “อุตตม” เปิดแผนขับเคลื่อน SMEs ปี 61