“รองอธิบดีภาณุวัฒน์” พาชมไฮไลท์สำหรับ SMEs ในงาน Thailand Industry Expo 2018

อัปเดตล่าสุด 4 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 449 Reads   

นายภาณุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผย ไฮไลท์สำหรับ SMEs ที่ห้ามพลาดในงาน Thailand Industry Expo 2018 (2-5 สิงหาคม 2561) ภายใต้แนวคิด “CHANGE to SHIFT” เปลี่ยนเพื่อปรับ ยกระดับอุตสาหกรรมไทย  เพื่อร่วมเดินทางสู่ประเทศไทย 4.0 

งานนี้จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี อันเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในรูปแบบเปิดกว้างและหลายทางเลือก ทั้งด้านเนื้อหาจากองค์ความรู้และประสบการณ์ ที่แบ่งปันโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงผู้ผลิตระดับโลก ด้านรูปแบบการนำเสนอที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ผ่านเทคโนโลยี VR พาชมงาน การได้พบปะกับกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่ม SMEs ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับตัวเองจากการลงมือเปลี่ยนตัวเอง มารวมตัวกันในงานนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสามารถทำได้จริง ตามแนวคิดที่ว่า “Change to Shift” ไปจนถึงการร่วมฟังเสวนาที่จัดขึ้นหลายหัวข้อระหว่างงาน โดยครอบคลุมการยกระดับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  • Agro-Inno SHIFT เน้นอุตสาหกรรมกลุ่มอาหาร กลุ่มเกษตรแปรรูป และกลุ่มฐานชีวภาพ
  • Manufacture-Inno SHIFT เน้นอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ กลุ่มหุ่นยนต์ กลุ่มดิจิทัล และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม 4.0
  • Service-Inno SHIFT เน้นอุตสาหกรรมกลุ่มการแพทย์  กลุ่มบริการทางการเงิน  กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มบริการ และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

AGRO-Inno SHIFT: ยกระดับการเกษตรยุค 4.0
 
การเกษตรในยุค 4.0 หรือเรียกกันว่า Agroindustry นั้นเป็นเรื่องของการปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง-แปรรูป ตั้งแต่จุดตั้งต้นในฟาร์มไปจนถึงปลายทางคืออาหารที่พร้อมเสริฟ์บนโต๊ะ (Farm to Table)

  • นวัตกรรมที่จะปรับปรุงการทำงานในพื้นที่การเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติมาช่วยในการให้สารอาหารและพ่นยา เป็นต้น

 

  • นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการการทำงานในพื้นที่การเกษตร เช่น การนำ Drone มาใช้ทั้งในการสำรวจพื้นที่ การหว่านเมล็ดพันธ์ุ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ร่วมกัน Drone ได้ด้วย 


 

  • นวัตกรรมที่จะแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเครื่องจักรต่าง ๆ เช่น เครื่องอบลมร้อน การนำเศษพืชไปแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ 100% หรือที่เรียกว่า Bio Packaging นั่นเอง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยในงานนี้มีผลผลิตแปรรูปในยุค 4.0 ที่ถูกนำเสนออย่างโดดเด่น เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านเมนู, ชื่อสินค้า, รวมถึงบรรจุภัณฑ์ มาแนะนำอย่างหลากหลาย

 

Manufacture-Inno SHIFT: เราจะสร้างผลิตภัณฑ์เรือธงเพิ่มอีกหนึ่งลำ​


ด้วยอาหารไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก มีหลายเมนูทั้งผัดไทย ต้มยำกุ้ง สัมตำ ที่คุ้นเคยกับชาวโลกเป็นอย่างดี และเมื่อ Michalin Guide มาจัดอันดับ Street Food ที่ประเทศไทยด้วยแล้ว ยิ่งกระพือให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อสิ่งนี้ จึงเป็นช่วงจังหวะที่ดี ในการสร้างเป้าหมายใหม่ให้กับอุตสาหกรรม นั่่นก็คือ “Food Truck” ที่จะเข้ามาแปลงโฉม Street Food ยุค 4.0 และจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการหลายกลุ่ม

  • ในอุตสาหกรรมการผลิต ผู้ผลิตและประกอบรถพ่วง รถบรรทุก ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบ 
  • เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ผู้ประกอบการด้านซอฟท์แวร์ที่เข้ามานำเสนอโซลูชั่นการบริหารจัดการร้านค้า ผู้ประกอบการด้านอาหารที่จะมีทางเลือกในรูปแบบร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการแฟรนไชส์อาหารที่สามารถเพิ่มจำนวนแฟรนไชส์ได้อย่างรวดเร็วเพราะ Food Truck สามารถจอดขายได้ทุกที่

นอกจากนี้ ในงานยังมีพี่ใหญ่จากโครงการ Big Brother ที่มานำเสนอ Technology และ Know-how ให้แก่ SMEs  อาทิเช่น  ระบบการผลิตแบบโตโยต้า หรือ Toyota Production System (TPS) อันเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จจากวิถีแห่ง Toyota ที่มีพื้นฐานมาจาก KAIZEN ปรัชญาที่ว่าด้วยการมีจิตสำนึกที่จะปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

และที่ขาดไม่ได้ คือ การเสนอเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ทั้งจาก DENSO ที่มีความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้โครงการ LASI,  จาก Center of Robotics Excellence: CoRE โดย TGI ที่รวบรวมเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการ System Integrator (SI) โดย Thailand Automation and Robotics Association: TARA นับว่าเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความคืบหน้าและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างต่อเนื่องไม่ตกเลยทีเดียว

Service-Inno SHIFT: เสริมแกร่ง งานบริการ อีกเป้าหมายที่ประเทศไทย มีดี
 
ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเรามองว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตได้เอง เช่น รถเข็นผู้ป่วย เตียงคนไข้ เสาน้ำเกลือ ถุงมือแพทย์ ยูนิตทำฟัน และอีกหลายรายการ นอกจากนี้ วงการแพทย์ไทยก็เริ่มนำหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยมาใช้บ้างแล้ว ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ สำหรับการพัฒนาและต่อยอดด้านเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์เพื่อผลิตเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ทำงานส่วนนี้ไปพอสมควรแล้ว และประสานภาคเอกชนให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ผลิตไทยรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระตุกหัวใจ AED จากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อตั้งโรงงานที่ประเทศไทย 
 
นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของคนไทยก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเองก็ดี หรือ งบประมาณของภาครัฐที่จะต้องสนับสนุนบริการทางการแพทย์ให้แก่ประชาชน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะถูกใช้อย่างมีประสิทธภาพดียิ่งขึ้น จากราคาที่ถูกลงของอุปกรณ์การแพทย์ ประชาชนสามารถจัดหาด้วยตัวเองได้ ในขณะที่ภาครัฐเองจะสามารถซื้ออุปกรณ์ได้มากขึ้นด้วยงบประมาณเท่าเดิม 
 
การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็จะช่วยสร้างความสะดวกสบายได้มากขึ้น และก็จะยิ่งสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยอีกด้วย
 
ท้ายที่สุดแล้วท่านรองฯ ภานุวัฒน์ก็ได้เผยว่า เรามุ่งหวังให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโต มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาการอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐในระยะถัดไป เพราะพวกเขาสามารถหารายได้ด้วยตัวเองตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงคาดหวังว่าการเข้ามาร่วมงานนี้สามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ไม่มากก็น้อย