ส.อ.ท. จัดสัมมนา Energy Symposium 2018 เร่งเอกชนเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 360 Reads   

สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2018 หัวข้อ “นวัตกรรมพลังงาน...โอกาสอุตสาหกรรมไทย” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชน เพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการแข่งขันในระดับประเทศ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ  
 
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 5 แผน ในช่วงปี พ.ศ. 2558 - 2579 ซึ่งประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2564 มีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.34 และการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือร้อยละ 47
 
ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้กำหนดทิศทางนวัตกรรมด้านพลังงานภายใต้นโยบาย Energy 4.0 โดยการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในอนาคต ซึ่งเป็นทางเลือกการใช้พลังงาน  ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage ในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ และส่งเสริมให้มี SPP Hybrid Firm โดยเปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภท ทั้งจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม กับพลังงานชีวภาพ เพื่อลดความผันผวนของพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า ด้วยการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนากิจการไฟฟ้าในอนาคต โดยการพัฒนาระบบ Smart Grid และโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
 
การที่ประเทศไทยจะสามารถไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่น ๆ โดยปัจจุบันได้มี Disruptive Technology ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและส่งผลกระทบต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม และธุรกิจแบบเดิม ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคตของผู้ประกอบการ จึงควรมีการทำความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กรให้เห็นถึงความเข้าใจใน Disruptive Technology ที่ช่วยปรับปรุงการบริหารทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง การรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป นายศิริ กล่าว
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับสมาชิก ส.อ.ท. เพื่อผลักดันและจูงใจให้มีการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเตรียมพร้อมและปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับนโยบาย Energy 4.0 เข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้านพลังงาน โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานประกอบการที่เป็นการต่อยอดและเพิ่มปริมาณการผลิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศต่อไปในอนาคต
 
งานสัมมนาวิชาการ Energy Symposium 2018 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมพลังงาน...โอกาสอุตสาหกรรมไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบนโยบายและข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนข้อมูลการส่งเสริมด้านพลังงานจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานควบคู่กันไป ทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการแข่งขันในระดับประเทศ และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการออกบูธนิทรรศการ “Energy Fair” จำนวนกว่า 25 บูธ โดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด, บริษัท สมาร์ทกริด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เพาเวอร์ แอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท แมสซิฟว อินโนเวชั่น เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด และบริษัทชั้นนำอื่น ๆ อีกมากมาย มาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยตรงอีกด้วย นายสุพันธุ์ กล่าว