Robots industry development strategy in nations

หลายประเทศเอาจริง ยก “หุ่นยนต์” เป็น “อุตสาหกรรมเป้าหมาย”

อัปเดตล่าสุด 5 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 2,709 Reads   

รายงานจาก International Federation of Robotics (IFR) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2020 ได้รวบรวมแนวทางการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ของประเทศที่มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไว้ดังนี้

จีน

แผนกลยุทธ์ “Made in China 2025” ได้กลายเป็นแม่แบบสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของจีน โดยยกให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมผู้ผลิตหุ่นยนต์จีนให้ก้าวสู่เวทีโลกได้ 3 - 5 ราย พร้อมส่วนแบ่งในตลาดโลก 45% นอกจากนี้ ยังเพิ่มสัดส่วนการติดตั้งหุ่นยนต์เป็น 100 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน และการสร้างนิคมอุตสาหกรรม 8 - 10 แห่ง ซึ่งในเป้าหมายเหล่านี้พบว่า จีนสำเร็จไปแล้ว 1 เป้าหมาย คือสัดส่วนการติดตั้งหุ่นยนต์ ซึ่งอยู่ที่หุ่นยนต์ 140 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน ตั้งแต่ปี 2018 และปี 2019 รัฐบาลจีนมีการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มากถึง 577 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันหุ่นยนต์ภายใต้แนวทาง “The New Robot Strategy” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอาเบะโนมิกส์ โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จากภาครัฐถึง 351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้ายกญี่ปุ่นเป็นฮับนวัตกรรมหุ่นยนต์ระดับโลก รวมถึงการผลักดันให้เกิดการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกจากการผลิต เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์, การเกษตร, และโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย

เกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศใช้  Intelligent Robot Development and Supply Promotion Act และยกให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งในปี 2019 รัฐบาลได้ประกาศแผนการคัดเลือก และสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งลงทุนสนับสนุนผู้ผลิตหุ่นยนต์โรงงาน, หุ่นยนต์บริการ, หุ่นยนต์ทางการแพทย์, หุ่นยนต์สำหรับโลจิสติกส์, และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ในขณะที่ ปี 2020 มีงบสนับสนุน 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน นี้ ซึ่ง IFR พบว่า ในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้ เกาหลีใต้มีจำนวนหุ่นยนต์โรงงานเพิ่มขึ้นมาก และกลายเป็นผู้ใช้หุ่นยนต์ลำดับ 3 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2018

สหภาพยุโรป

การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน “Horizon 2020” โครงการวิจัยนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ซึ่งมุ่งผลักดันหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิต, การแพทย์, คมนาคม, อาหารแปรรูป, และหุ่นยนต์สำหรับผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณ 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงปี 2018 - 2020 ได้มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI เป็นหลัก รวมไปถึงพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในรูปแบบใหม่ ๆ เช่นหุ่นยนต์ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้เหมือนการเข้าสังคม, การนำ Model-Based Design มาใช้กับการพัฒนาหุ่นยนต์, และอื่น ๆ ภายใต้งบประมาณิีก 173 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เยอรมนี

รัฐบาลเยอรมันสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายใต้กลยุทธ์ High-Tech Strategy ซึ่งว่าด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผนวกเข้ากับภาคอุตสาหกรรมและการบริการ โดยได้จักตั้งโครงการ “PAiCE (Platforms | Additive Manufacturing | Imaging | Communication | Engineering)” ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ด้วยงบประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์ และแพลตฟอร์มเพื่อรองรับหุ่นยนต์จากต่างแบรนด์อย่าง umati รวมไปถึงหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมบริการ และโลจิสติกส์อีกด้วย

สหรัฐอเมริกา

เดินหน้าโครงการ National Robotics Initiative (NRI) เพื่อส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ, เอกชน, สถานศึกษา, และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้งบประมาณ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการสนับสนุนโครงการ Mars Exploration Program สำหรับนำหุ่นยนต์ไปใช้งานที่ดาวอังคาร และยังได้รับการนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมอีกด้วย ส่งผลให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์สหรัฐมีการเติบโตต่อเนื่องมาตลอด 8 ปี

ไทย

สำหรับประเทศไทยเอง ได้ยกให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve โดยในปี 2017 รัฐบาลได้ออกมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใน 5 ปี โดยมี Roadmap และมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม 3 ส่วนหลัก คือ 

1) การกระตุ้นอุปสงค์ ให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 12,000 ล้านบาทในปีแรก ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน, การยกเว้นภาษีเงินได้ 300% เพื่อการวิจัย, สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ, และให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี 

2) การสนับสนุนอุปทาน เพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง System Integrator (SI) ผู้ทำหน้าที่ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวน SI 1,400 ราย, มีการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่นำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นทางภาษี

3) การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน โดยจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่อง โดยมีเป้าหมายพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน