ไม่ใช่แค่จีน ปริมาณการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอินเดีย และเวียดนามพุ่ง!

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,799 Reads   

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในอนาคต ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งแน่นอนว่า ความต้องการระบบอัตโนมัติเองก็เป็นอีกสิ่งที่จะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน และเป็นแนวโน้มที่เหมือนกันทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เอง เทคโนโลยี IoT และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จึงเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวังจากอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างยิ่ง ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะมาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์ได้ในด้านใดต่อไป

ยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในตลาดโลก


 

รายงานโดย International Federation of Robotics (IFR) ระบุว่า ยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปี 2017 อยู่ที่ 381,000 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2016 30% ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นหุ่นยนต์จากจีนถึง 138,000 เครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่ง 36% ในตลาดโลก และมีการเติบโตจากปีก่อนถึง 59% ในขณะที่ลำดับ 2 คือญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนแบ่งที่ 18% ตามด้วยเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนีตามลำดับ

โดยปัจจุบัน ตลาดจีนกำลังเกิดการชะลอตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ตลาดจีนจะฟื้นฟูกลับมาได้ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะกลางเป็นต้นไป ซึ่ง IFR คาดการณ์ว่า ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลก จะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 14% ไปจนถึงปี 2021 โดยเป็นผลจากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ แม่พิมพ์ และอาหาร 

หากแบ่งตามภูมิภาค จะพบว่านอกจากจีน ซึ่งมีปริมาณการสั่งซื้อหุ่นยนต์สูงแล้ว ประเทศอื่น ๆ ใน เอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย และเวียดนาม ก็เป็นประเทศที่มีการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า ประเทศเหล่านี้เอง ที่จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคต

Cobot อีกแรงผลักตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

อีกแรงผลักที่น่าจับตามองในตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมคือ Cobot ซึ่งสามารถแทนที่คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง ทำงานร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องกั้นรั้วแยก

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมี Cobot จากผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายค่ายออกสู่ตลาดอย่างคึกคักในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เช่น Universal Robot ผู้ผลิตค่ายเดนมาร์ก ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัว Cobot โมเดลใหม่ออกมา Fanuc ซึ่งพัฒนาโดยเน้นไปที่ด้านข้อต่อ Kawasaki Heavy Industries ซึ่งพัฒนาโมเดลที่มี Linear Motion Guide เป็นส่วนประกอบ Yaskawa ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเคลื่อนย้าย Denso Wave ที่ประสานความร่วมมือกับ Nachi-Fujikoshi เมื่อปี 2018 และ Mitsubishi Heavy Industries ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา Cobot ของตัวเองในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหุ่นยนต์จะมีพัฒนาการมากแค่ไหน ก็ยังมีกระบวนการทำงานที่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติเข้าแทนที่ได้ยากอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์ และประสาทสัมผัสที่ละเอียดเกินกว่าเซ็นเซอร์จะทำงานได้ดี ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายค่ายตั้งเป็นโจทย์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเอาไว้ในขณะนี้

Preferred Networks ได้เลือกพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถใช้ AI ในการตรวจจับวัตถุ พร้อมติดตั้งระบบภาพไว้ภายในอุปกรณ์ควบคุม เพื่อให้สามารถเรียนรู้การทำงาน ผ่านภาพของชิ้นงานที่ประกอบแล้วเสร็จได้

 


“ฟังค์ชันตรวจสอบตำหนิ” ที่ Preferred Networks และ Fanuc ร่วมกันพัฒนา

ส่วน Mitsubishi Electric นั้น ได้พัฒนาระบบ AI ที่สามารถปรับพารามิเตอร์ได้ด้วยตัวเองระหว่างการหยิบจับชิ้นงาน ทำให้ได้มือหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้ละเอียดใกล้เคียงมนุษย์ ซึ่งจากการทดสอบนำมาใช้ในกระบวนการประกอบสายไฟ พบว่าสามารถลด Takt Time ลงได้จากเดิมถีง 60%

อีกรายหนึ่ง คือ Kawasaki Heavy Industries ซึ่งมุ่งไปที่การพัฒนา "Successor” ซึ่งมีจุดเด่นที่ AI ซึ่งสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงาน เพื่อจำลองทักษะการทำงานของวิศวกรผู้มีประสบการณ์ออกมาได้


"Successor” ของ Kawasaki Heavy Industries ขณะสาธิตการพ่นสี