กฟผ.ดึงอู่แปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง(ไอ-อีวี) ใช้งบไม่เกิน 5 แสน!

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,685 Reads   

กฟผ.ดึงอู่แปลงรถเก่าเป็นไอ-อีวีใช้งบไม่เกิน 5 แสน ถ้ารุ่นใหม่ 3 ล้านบาท พร้อมอัดโปรโมชั่นเพียบ

น.ส.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานอีแกท อินโนเวชั่น โชว์เคส 2019 ว่า กฟผ.เตรียมต่อยอดโครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลง(ไอ-อีวี) และคู่มือรถไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่เชิงพาณิชย์ นำเทคโนโลยีที่วิจัย พร้อมคู่มือ(พิมพ์เขียว) ให้อู่รถยนต์ที่สนใจยื่นเสนอการติดตั้ง โดยจะนำร่อง 3 แห่งภายในต้นปี 2563 เบื้องต้นคาดว่าราคาติดตั้งเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าใหม่ประมาณ 200,000 บาท ต่อคัน และติดตั้งแบตเตอรี่ราคาประมาณ 300,000 บาท และอนาคตราคาจะถูกลงอีก รวมทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาท ถือว่าถูกกว่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่ราคาคันละ 3 ล้านบาท และอนาคตแบตเตอรี่จะถูกลง


“โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเปิดทางเลือกให้คนที่มีรถยนต์อยู่แล้ว แต่อยากเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า กฟผ.จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) วิจัยขึ้นมา เน้นนำรถยนต์ใช้แล้วมาติดตั้ง เพื่อให้ไทยพึ่งพิงตนเอง แทนการพึ่งเทคโนโลยีต่างประเทศ ตอนนี้มีอู่สนใจแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอู่เคยติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) เพราะตอนนี้รถยนต์ติดตั้งเครื่องเอ็นจีวีน้อยลง”  น.ส.จิราพรกล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.ได้วิจัยรถไฟฟ้าดัดแปลง หรือ ไอ-อีวี ตั้งแต่ปี 2559 ระยะแรกนำร่องเปลี่ยนรถยนต์ฮอนด้าแจ๊ส เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและนำมาใช้ได้จริง ขณะนี้อยู่ในช่วงเฟส 2 ทดลองกับรถนิสสันอัลมิร่า 1200 ซีซี จำนวน 2 คัน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จและสามารถใช้งานได้ และอยู่ระหว่างทดลองรถยนต์โตโยต้า อัลติส ขนาด 1800 ซีซี จำนวน 2 คัน คาดว่า ศึกษาเสร็จเดือนพฤศจิกายนนี้ อนาคตเชื่อว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ จะสามารถดัดแปลงได้เช่นกัน และจะพิจารณามาตรการส่งเสริมการติดตั้ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค


น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้พัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะการรองรับพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับสถานการณ์ในอนาคตที่วางเป้าหมายที่จะลดพนักงานจาก 21,000 คน ให้เหลือ 15,000 คน ในปี 2565