แผนนโยบายทางเศรษฐกิจของคันไซปี 2563-2568

อัปเดตล่าสุด 19 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 1,339 Reads   

ภูมิภาคคันไซ หรือญี่ปุ่นตะวันตก ซึ่งมีจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชนชั้นนําของญี่ปุ่น เช่น โอซากา (บริษัท Daikin/ Panasonic/ Sharp) เกียวโต (Kyocera/ Omron/ Nintendo) และเฮียวโกะ (Kawasaki Heavy Industry) ถือเป็นภูมิภาคที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมายาวนาน จากสถิติล่าสุดของสํานักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (Gross Regional Product – GRP) ของคันไซ 7 จังหวัด (โอซากา มิเอะ ชิกะ เกียวโต เฮียวโกะ วากายามะ และนาระ) ของปีงบประมาณ 2559 มีมูลค่า 852.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณร้อยละ 17.3 ของ GDP ของประเทศญี่ปุ่น) คิดเป็นอันดับที่ 18 ของโลก มีขนาดของเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศตุรกีและเนเธอร์แลนด์ โดยจังหวัดโอซากามีมูลค่า GDP 359.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น รองจากกรุงโตเกียว (964 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ) และจังหวัดไอจิ (363.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของภูมิภาคคันไซของปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ที่ร้อยละ 0.8
 
การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคคันไซระหว่างปี 2562 – 2568 อยู่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากปัจจัย ด้านนโยบายและพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สําคัญ ๆ ดังนี้

1. Golden Sports Years 2562 – 2564 อุตสาหกรรมกีฬาซึ่งหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ สินค้ากีฬา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและการแพทย์ และสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา ถือเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสําคัญนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยใน Japan Revitalization Strategy 2016 ระบุว่า อุตสาหกรรมกีฬาเป็นตลาดใหม่ที่เติบโตอย่างมี ศักยภาพ โดยมีแนวทางที่สําคัญคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการกีฬา เช่น การพัฒนาอุปกรณ์กีฬาสําหรับสวมใส่ ที่ใช้ IT การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านกีฬาแก่นักกีฬาและผู้ชมการแข่งขัน เป็นต้น ขณะที่ Growth Strategy 2017 ได้กําหนดแนวทางในการนําแผนพัฒนาการกีฬาไปปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

คันไซเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมกีฬาเนื่องจาก (1) เป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนําด้าน ผลิตภัณฑ์กีฬาของญี่ปุ่นหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Asics และ Mizuno คันไซถือเป็น 1 ใน 3 ของแหล่ง วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กีฬาที่สําคัญของโลกที่เทียบเคียงได้กับ Oregon ซึ่งเป็นที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของ Nike และ Bayern ที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของ Adidas และ Puma (2) เป็นที่ตั้งของสนามกีฬาสําคัญระดับประเทศ เช่น สนามเบสบอล Hanshin Koshien และสนามรักบี้ Hanazono และ (3) มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ เข้มแข็งและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว
 
ในห้วง Golden Sports Years มีการแข่งขันกีฬาสําคัญที่เกี่ยวข้องกับคันไซโดยตรง 2 รายการ ได้แก่ Rugby World Cup 2019 (20 กันยายน – 2 พฤศจิกายน 2562) จัดแข่งขันเป็นครั้งแรกในเอเชีย และประสบความสําเร็จอย่างล้นหลามด้วยยอดจําหน่ายบัตรเข้าชมจํานวน 1.84 ล้านใบ สร้างมูลค่าทาง เศรษฐกิจให้กับญี่ปุ่นสูงถึง 4.37 แสนล้านเยน โดยมีเมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโกะเป็น 1 ในสนามแข่งขัน และ World Masters Games Kansai 2021 (14 – 30 พฤษภาคม 2564) เป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างให้บุคคลที่มี อายุ 30 ปีขึ้นไป เข้าร่วมแข่งขันได้โดยไม่มีข้อจํากัด จัดแข่งขันเป็นครั้งแรกในเอเชีย สนามแข่งขันประกอบด้วย 6 จังหวัดในคันไซ ได้แก่ โอซากา เกียวโต เฮียวโกะ ชิกะ นาระ และวากายามะ และ 4 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ฟุคุอิ ทตโตริ โอคายามะ และโทกูชิมะ คาดการณ์ว่า World Masters Games Kansai จะสร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 1.46 แสนล้านเยน
 
2. การเปิดสถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจรและคาสิโน (Integrated Resort – IR) รัฐสภาญี่ปุ่น อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติสถานที่ก่อสร้าง IR 3 แห่ง โดยจะทราบผลการพิจารณาในปี 2563 และ ตั้งเป้าให้สามารถเปิดบริการได้ในปี 2567 จังหวัด/เมืองที่เสนอตัวเป็นที่ตั้ง IR ประกอบด้วย กรุงโตเกียว เมืองชิบะ เมืองโยโกฮามะ เมืองนาโกยา นครโอซากา วากายามะ และนากาซากิ ในส่วนของโอซากามี แผนจะใช้เงินลงทุนจํานวน 9.3 แสนล้านเยน คาดการณ์ว่า จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ 15 ล้านคน/ปี และมีผู้ใช้บริการ 24.8 ล้านคน/ปี สร้างรายได้ 4.8 แสนล้านเยน/ปี
 
3. แผนพัฒนา Umekita ระยะที่ 2 แผนพัฒนาพื้นที่ฝั่งเหนือของสถานีรถไฟอุเมะดะ/สถานีรถไฟ โอซากา (Umekita – North Umeda) ของนครโอซากาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 เพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นย่านธุรกิจและศูนย์กลางการคมนาคมที่สําคัญของภูมิภาคคันไซ เป็นการดําเนินแผนพัฒนาร่วมระหว่าง ภาครัฐบาล ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา แผนพัฒนาระยะที่ 1 รวมถึงการสร้างอาคาร Grand Front Osaka บนพื้นที่ 70,000 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “เมืองใหม่” ที่ตอบสนองทุกโจทย์ในการใช้ชีวิต ของประชาชน นอกจากจะมีพื้นที่ศูนย์การค้า ศูนย์จัดการประชุม และอาคารสํานักงานแล้ว พื้นที่ส่วนหนึ่ง ของอาคารฯ ได้รับการจัดสรรให้เป็นที่ตั้งของ Knowledge Capital แหล่งสร้างเสริมความรู้ด้านนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา
 
สําหรับแผนพัฒนาระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 106 ไร่ ภายใต้แนวคิดการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้าน Life Design พื้นที่เมืองสีเขียว เน้นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านเชาวน์ปัญญา การใช้ประโยน์จากเทคโนโลยี IoT/ big date ฯลฯ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ภายใต้แผนพัฒนาระยะที่ 2 จะจัดสรรพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สีเขียว คาดว่าจะเริ่มให้บริการส่วนแรกได้ ในปี 2565
 
4. การเปิดศูนย์นวัตกรรมการแพทย์นานาชาตินากาโนะชิมะ (International Hub for Medical Innovation) จังหวัดโอซากามีแผนที่จะพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ของโลก เป้าหมายในการตั้งศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ นี้คือ เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีการแพทย์แห่งอนาคต เพื่อตอบสนองต่อความก้าวหน้าของเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม (regenerative medicine) เช่น การใช้ประโยชน์ จากการแพทย์ระดับจีโนม ปัญญาประดิษฐ์ และ IoTs และสร้างนิเวศวิทยาทางการแพทย์ที่เอื้อต่อการใช้ ประโยชน์จากอุตสาหกรรมทางการแพทย์แห่งอนาคต คาดว่าจะสามารถเปิดศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ นี้ ได้ภายในปี 2566
 
5. Expo 2025, Osaka ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม – 3 พฤศจิกายน 2568 ที่ Yumeshima ภายใต้แนวคิดหลัก Designing Future Society for Our Lives เน้น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การช่วยชีวิต (saving lives) โดยต่อสู้กับโรคติดเชื้อต่าง ๆ และการยึดช่วงอายุขัย (2) การเสริมสร้างชีวิต (empowering lives) ผ่านการให้ความรู้ด้านสุขภาพ การทํางาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม
โดยใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และ (3) การเชื่อมโยงชีวิต (connecting lives) ด้วยการสร้างเครือข่ายและความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและความรู้ใหม่ ๆ
 
เป้าหมายในการจัด Expo 2025 ตอบโจทย์นโยบายสังคม 5.0 ของรัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งก้าวไปสู่ การเป็นสังคมที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความสะดวกสบาย มีพลัง และมีคุณภาพชีวิตสูง โดยเน้นที่การสร้าง สมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ IoTs ปัญญาประดิษฐ์ big data หุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยการเชื่อมโยงพื้นที่ไซเบอร์ (โลกเสมือนจริง) และ พื้นที่ทางกายภาพ (โลกจริง) เข้าด้วยกัน การดําเนินนโยบายสังคม 5.0 ยังสามารถนําไปสู่การบรรลุเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติได้ด้วย

ในเชิงเศรษฐกิจมีการคาดการณ์ว่าการจัด Expo 2025 จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1.25 แสนล้านเยน มีจํานวนผู้เยี่ยมชม 28 ล้านคน และสร้างรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ โครงการ ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการคมนาคมที่สําคัญประกอบด้วย ทางหลวงสาย Yodogawa Sagan ส่วนที่สอง การขยายช่องทางจราจรสะพาน Yumemai Ohashi ช่วง Yumeshima และ Maishima การสร้าง ส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย Chuo จากสถานี Cosmosquare ไปยัง Yumeshima เป็นต้น
 
6. โครงการก่อสร้างเครือข่ายคมนาคมที่สําคัญ ทางรถไฟสายสําคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย (1) รถไฟสาย JR Tokaido เส้นเชื่อมต่อรถไฟใต้ดิน สถานี Kita Umeda (2) รถไฟชินคันเซ็น สาย Hokuriku ส่วนต่อขยายระหว่างสถานี Kanazawa กับสถานี Tsuruga (จังหวัดฟุคุอิ) ทั้งสองสายกําหนด เสร็จฤดูใบไม้ผลิปี 2566 (3) ส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย Chuo จากสถานี Cosmosquare ไปยัง Yumeshima กําหนดเสร็จปี 2567 และ (4) รถไฟสาย Linear Chuo Shinkansen ระหว่างโตเกียวกับ โอซากา กําหนดเสร็จช่วงปี 2580 – 2588 โดยใช้รถไฟ Maglev ซึ่งเป็นรถไฟหัวกระสุนที่เร็วที่สุดในโลก วิ่งด้วยอัตราความเร็ว 505 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะร่นระยะเวลาเดินทางจากโตเกียวและโอซากาเหลือเพียง 67 นาที โครงการนี้เมื่อแล้วเสร็จจะทําให้มีเส้นทางรถไฟชินคันเซ็น 3 สาย ที่เชื่อมระหว่างคันไซกับโตเกียว ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า รถไฟสายนี้เมื่อแล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.56 ล้านล้านเยน/ปี


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com