กฎหมายไทย ตามไม่ทัน ‘express delivery’

อัปเดตล่าสุด 16 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 929 Reads   

หลายท่านคงเคยเห็นรถขนส่งสินค้าที่หลากหลาย ทั้งรถจักรยานยนต์ (จยย.) ส่งอาหารและรถปิกอัพส่งพัสดุสินค้า ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ทำให้การซื้อของออนไลน์ง่ายจนกลายเป็นที่นิยม ส่งผลให้บริการขนส่งด่วนหรือ express delivery เป็นที่ต้องการอย่างมาก

ปัจจุบันตลาดขนส่งด่วนของไทยมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ขยายตัวก้าวกระโดดจากปี 2560 เกือบ 2 เท่า กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากทั้งบริษัทขนส่งรายเดิม และนักลงทุนไทยรายใหม่ รวมถึงกลุ่มทุนต่างชาติ

เดิมทีตลาดขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ผูกขาดโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย กระทั่งเริ่มมีคู่แข่งอย่าง Kerry Express บริษัทร่วมทุนไทย-ฮ่องกง เข้ามาให้บริการในปี 2549 ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ต่อมา ผู้ให้บริการรายใหม่ก็ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง จนตลาดมีการแข่งขันสูงมาก มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขนส่งสินค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากถึง 570 ราย

ขณะที่ธุรกิจขนส่งด่วนได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่การกำกับดูแล ยังล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์

โดยกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งกำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งสินค้าต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และต้องจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้รับจ้างขนส่งสินค้า ซึ่งปัญหาอยู่ที่การกำหนดให้รถที่ใช้ในการรับจ้างต้องเป็นรถขนาดใหญ่ตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปเท่านั้น แต่รูปแบบการขนส่งด่วนในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกใช้รถ ขนาดเล็กอย่างรถปิกอัพ หรือ จยย. เพื่อจัดส่ง สินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็ก และเน้นส่งสินค้าภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่นการจัดส่งภายในวันเดียว (Same day) หรือภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง (on-demand delivery)

เมื่อ พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ ยังไม่อนุญาตให้ใช้รถขนาดเล็กเพื่อรับจ้างขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการส่วนมากจึงเลือกนำรถปิกอัพไปจดทะเบียนเป็นรถขนส่งส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 หากแต่กฎหมาย ดังกล่าวห้ามไม่ให้นำรถขนส่งส่วนบุคคลมาใช้ในกิจการรับจ้าง ด้วยโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท อีกทั้งผู้ประกอบการจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ จากการใช้รถ ผิดประเภท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียน จยย.เพื่อ ขนส่งสินค้านั้นไม่มีปัญหา เนื่องจากสามารถจดทะเบียนเป็น จยย.ส่วนบุคคล หรือ จยย.สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ซึ่งกฎหมายมิได้ห้ามนำไปใช้เพื่อรับจ้างขนส่งสินค้า

แม้ว่าสถิติของกรมการขนส่งทางบก ยังไม่พบว่าการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่ใช้รถผิดประเภท แต่หากเจ้าหน้าที่กวดขันการบังคับใช้กฎหมาย กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ รถปิกอัพขนส่งสินค้าจะถือว่ามีความผิดทันที ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายที่ยังไม่อนุญาตให้นำรถขนาดเล็กไปจดทะเบียนเพื่อรับจ้าง ขนส่งสินค้า ด้วยเหตุนี้คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้ หน่วยงานกำกับดูแลทำการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจขนส่งด่วน

ประการแรกคือการเพิ่มลักษณะรถยนต์ที่อนุญาตให้ใช้รับจ้างขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ จากเดิมกำหนดไว้เพียง 9 ประเภท ซึ่งล้วนแต่เป็นประเภทรถขนาดใหญ่ อาทิ รถบรรทุก 6 ล้อ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถนำรถปิกอัพมาจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎหมาย และยังสร้างความชัดเจนต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที

และประการที่ 2 กรมการขนส่งทางบก ควรศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายนิยาม รถขนส่งส่วนบุคคล หรือการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถนำรถส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างขนส่งสินค้า อันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขับรถขนส่งรายย่อยหรือบุคคลทั่วไปมีรายได้เสริม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการจากการลงทุนวางโครงข่ายขนส่งด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการบางรายอนุญาต ให้ผู้ขับรถสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาร่วมวิ่งขนส่งสินค้า หรือการจัดหาคนขับที่มีรถขนส่งสินค้าเป็นของตนเอง

ทุกวันนี้หลายธุรกิจปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี ซึ่งธุรกิจขนส่งด่วนก็เป็นหนึ่งในนั้น หากแต่กฎหมายหลายฉบับ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันถูกเขียนขึ้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หากภาครัฐไม่ทบทวนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กฎหมายเหล่านั้นจะกลายเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ แทนที่จะเป็นเครื่องมือของภาครัฐที่ใช้เพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  :   TDRI สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) www.tdri.or.th