สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

กระทรวงอุตฯ ชี้ GWM ซื้อโรงงาน GM ดันการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า-รองรับรถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 20 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 847 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ชี้การซื้อโรงงาน “เจนเนอรัล​ มอเตอร์ส” (General Motors : GM) ประเทศไทย ของ “เกรท วอลล์ มอเตอร์ส” (Great Wall Motors : GWM) เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ (Global Strategy) เพื่อรองรับการเปลี่ยนของโลก (Mega Trend) และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยการลงทุนของ GWM มีขนาดกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี เมื่อเทียบกับการผลิตของ GM ในปัจจุบันผลิตได้เพียง 50,000 คันต่อปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งเอเชียต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การซื้อศูนย์การผลิตรถยนต์ GM ประเทศไทยของ GWM นั้น เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ (Global Strategy) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Mega Trend) โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ตลอดจน นโยบายของทั้งสองบริษัทในการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายยานยนต์ในสาขาทั่วโลก เช่น ยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์รวมถึงประเทศไทย โดยกลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อรองรับ Disruptive Technology ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 


ดังจะเห็นได้จากกรณีของการปรับกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบริษัทรถยนต์หลายค่ายทั่วโลก เช่น เฟียต-ไครสเลอร์ และการที่ GWM ได้ซื้อโรงงานผลิตยานยนต์ในประเทศอินเดียก่อนหน้านี้ด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า GWM ได้เข้ามาหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการลงทุนสร้างฐานการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดย GWM เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) และรถปิกอัพรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา GWM มีปริมาณการจำหน่ายในจีนเฉลี่ย 1 ล้านคันต่อปี 

สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนั้น GWM วางแผนการผลิตรถยนต์ SUV และรถปิกอัพ รวมถึงการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 100,000 คันต่อปี โดยร้อยละ 50 จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก โดยคาดว่า จะเริ่มต้นการผลิตได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยสรุปแล้ว การลงทุนของ GWM ขนาดกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี (ในปัจจุบัน GM ผลิตประมาณ 50,000 คันต่อปี) จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการผลิต (โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและ Supply Chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ) การส่งออก และการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ GWM ยังมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และเยอรมัน ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งคาดว่า จะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อนโยบายการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยของรัฐบาลอีกด้วย

จากแนวโน้มที่มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ GWM ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยให้มีการสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์สะอาด ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกก็มุ่งสู่เทคโนโลยีสะอาดเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการยานยนต์ ในประเทศไทย ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จึงควรเร่งปรับตัวตามทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีโลกดังกล่าว เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในอาเซียน และเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในระดับโลก

อ่านต่อ:
“จีเอ็ม” เลิกผลิต-ขาย เชฟโรเลตในไทย หลัง “เกรท วอล มอเตอร์ส” ซื้อต่อโรงงานที่ระยอง