ก้าวถัดไปของ Machine Tools โรบอท และ IT จากงาน EMO Hannover 2019

อัปเดตล่าสุด 24 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 1,253 Reads   

Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA) ร่วมถก ความคืบหน้าอุตสาหกรรม, เทคโนโลยีดิจิทัล, และโรบอท จากงาน “EMO Hannover 2019” งานจัดแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของยุโรป ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ ประเทศเยอรมนี

“อัตโนมัติยิ่งขึ้น ซับซ้อนยิ่งขึ้น” Mr. Yukio Iimura ประธานสมาคม JMTBA


Mr. Yukio Iimura ประธานสมาคม Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA)

มีความเห็นอย่างไรต่องาน Emo Hannover 2019?

Mr. Yukio Iimura  “เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเปิดตัวเครื่อง Multi-Process Machine ขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นเครื่องที่มีไว้สำหรับผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน และใบพัดขนาดใหญ่ ส่วนเทคโนโลยีโรบอท และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็มีความคืบหน้าในด้านศักยภาพของระบบอัตโนมัติมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เช่น แว่นตา AR (Augmented Reality) สำหรับงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร, อุปกรณ์ IoT ที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของการผลิตมากขึ้น, เทคโนโลยีการประเมินความเสื่อมสภาพ และบำรุงรักษาเครื่องจักรล่วงหน้า, เทคโนโลยีควบคุมการผลิตทางไกล, เทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูล, และอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร และสายการผลิตในอนาคตทั้งสิ้น” 

Mr. Masahiko Mori  “สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจภายในงานคือ เทคโนโลยีมาตรวิทยา (Metrology) ของค่ายยุโรปที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และมีตัวเลือกใหม่ ๆ จากกลุ่ม SME เพิ่มขึ้น และทูลลิ่ง (Tooling) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำแนวคิดด้านแมชชีนนิ่ง, วัสดุศาสตร์, และสารเคมีมารวมกันในการออกแบบ”

“AR และ VR คือสิ่งอำนวยความสะดวกในกระบวนการผลิต” Mr. Yoshiharu Inaba รองประธานสมาคม JMTBA และประธานบริษัท Fanuc


Mr. Yoshiharu Inaba รองประธานสมาคม Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA) และประธานบริษัท Fanuc

Mr. Yoshiharu Inaba  “ภายในงาน EMO Hannover 2019 สิ่งที่ผมเห็นว่ามีพัฒนาการชัดเจนคือ การควบคุมเครื่องจักรผ่าน Numerical Control (NC) ซึ่งถูกออกแบบให้ทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา ด้วยจอภาพขนาดใหญ่ และทัชสกรีน ทำให้การสั่งการเครื่องจักรทำได้สะดวกขึ้น ส่วนเทคโนโลยีอื่น เช่น Connected Technology, การบำรุงรักษา, และการควบคุมทางไกลก็มีการจัดแสดงจากผู้ออกบูธมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม มีไม่มากนักที่นำเสนองานบริการด้านข้อมูลว่า จะนำข้อมูลของลูกค้ามาใช้พัฒนากระบวนการผลิตต่อได้อย่างไร นอกจากนี้ เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น Digital Twin, AR (Augmented Reality, VR (Virtual Reality) และซิมูเลชันยังมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริการด้าน VR ที่ครอบคลุมหลายภาคอุตสาหกรรมกว่าที่ผ่านมา อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ บูธโรบอทมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเสียจน Machine Tools กลายเป็นส่วนน้อยของงานในครั้งนี้”

“จับตา umati” Mr. Tomohisa Yamazaki รองประธานสมาคม JMTBA และประธานบริษัท Yamazaki Mazak


Mr. Tomohisa Yamazaki รองประธานสมาคม Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA) และประธานบริษัท Yamazaki Mazak

Mr. Tomohisa Yamazaki  “ภายในงานครั้งนี้ บูธต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรม 4.0 มีความคืบหน้ามากแค่ไหนนับตั้งแต่เมื่อครั้งถูกนำเสนอในปี 2011 ซึ่งในปีนี้ แนวทางที่เป็นเหมือนธีมหลักของงานคือ “umati (Universal Machine Tool Interface)” รูปแบบการควบคุมเครื่องจักรอันเป็นสากลที่สมาคมวิศวกรเครื่องกล และอุตสาหกรรมเยอรมัน “Verband Deutscher Maschinen- und Anlagenbau: (VDMA) เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งส่วนตัวผมคาดการณ์ว่า umati มีแนวโน้มสูงมากที่จะกลายเป็นมาตรฐานที่เครื่องจักรค่ายยุโรปขาดไม่ได้ในอนาคต” 

Mr. Masayoshi Amano  “พิธีเปิดงานในปีนี้น่าประทับใจมาก ส่วนภายในงานก็มีการจัดการ และจำนวนสินค้าที่นำมาจัดแสดงอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้จัดงานควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง รวมถึงงาน Japan International Machine Tool Fair (JIMTOF) 2020 ในปีหน้าของญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเราจะมีธีมของงานคือ “อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปจากการผนวกเทคโนโลยี”

“อีกธีมของงานคือ “Connected” Mr. Masahiko Mori รองประธานสมาคม JMTBA และประธานบริษัท DMG Mori


Mr. Masahiko Mori รองประธานสมาคม Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA) และประธานบริษัท DMG Mori

Mr. Yoshiharu Inaba  - “ไม่แปลกที่ทุกคนจะให้ความสนใจเทคโนโลยี Connected แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ จะนำข้อมูลที่ได้จากการเชื่อมต่อมาใช้งานอย่างไร”

Mr. Masahiko Mori - “ผมสังเกตว่าผู้ผลิตที่ออกงานในครั้งนี้ ไม่ได้มองเทคโนโลยี Connected ในฐานะช่องทางสร้างรายได้ แต่เป็นในฐานะผลประโยชน์ที่สังคมพึงรับ และต้องมีการพิจารณาการนำไปใช้ให้เหมาะสม”

Mr. Yukio Iimura  “การเชื่อมต่อไม่ควรหยุดอยู่แค่ Machine Tools และโรงงาน แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตควรเข้าถึงได้ ยกตัวอย่างเช่น “แท็บเล็ตซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เครื่องจักรได้ทุกเครื่องจากทุกที่” การตรวจสอบการทำงานของ Machine Tools จากเครื่องฉีดพลาสติก, และอื่น ๆ พัฒนาให้เหมือนเทคโนโลยีพวกนี้เป็นของวิเศษจากเรื่องโดราเอมอน ซึ่งในยุคนี้ เป็นช่วงเวลาอันดีที่ควรนำเสนอ “ความยืดหยุ่น” ของเครื่องจักรให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็น”

“อุตสาหกรรมเครื่องจักรจะฟื้นตัวได้เพราะตลาดรถยนต์ Mr. Masayoshi Amano กรรมการผู้จัดการ JMTBA


Mr. Masayoshi Amano กรรมการผู้จัดการสมาคม Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA)

Mr. Masayoshi Amano  “หากพิจารณาจากความเห็นของสมาคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศแล้ว พบว่าปัจจุบัน หลายชาติประสบปัญหาเดียวกัน คือ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรที่ลดลง 20 - 30% ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มในปี 2020 เป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม หลายประเทศแสดงความเห็นว่าในระยะยาว ยอดสั่งเครื่องจักรจะฟื้นตัวจากตลาดรถยนต์ยุคใหม่”

Mr. Masahiko Mori  “ประเทศที่ยอดสั่งเครื่องจักรลดลงต่ำสุดคือญี่ปุ่น และเยอรมนี อย่างไรก็ตาม การลงทุนจะไม่มีทางหายไป การลงทุนในจีนก็ยังไม่ลงถึงจุดต่ำสุด และหากลงถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ก็จะต้องฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างแน่นอน”

Mr. Tomohisa Yamazaki  “การชะลอตัวของการลงทุนในระยะหลังมานี้เป็นผลจากนโยบายภาษีของสหรัฐ และคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่การลงทุนที่ลดงลง ไม่ได้แปลว่าความต้องการลงทุนจะหายไป ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมจีน ที่มีการจัดซื้อโรบอทน้อยลง แต่ยังมีตลาดรองรับอีกมาก”

มีความเห็นอย่างไรต่อ Additive Manufacturing?

Mr. Tomohisa Yamazaki “ปีนี้สินค้าในหมวดนี้ลดลงจากปีที่แล้ว แต่คุณภาพชิ้นงานที่ผลิตได้สูงขึ้นจากปีก่อนเป็นอย่างมาก”

Mr. Yoshiharu Inaba  “จุดที่น่าสนใจคือเครื่องตัด, และเครื่อง 3D Printer แบบหลายช่อง, รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้ ผู้ผลิตคงจะแข่งขันกันในด้านความเร็ว และคุณภาพชิ้นงานที่ผลิตได้อย่างแน่นอน”

Mr. Masahiko Mori  “แม้จะมีความคืบหน้า แต่หลายครั้ง ผู้ผลิตก็ไม่ทันคิดเผื่อความต้องการของผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทเราที่ออกแบบเครื่องเพื่อผลิตชิ้นงานสำหรับทูลลิ่ง และการแพทย์ แต่ผู้ใช้ต้องการนำไปผลิตชิ้นงานแบบอื่น นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการพัฒนาผงแป้งที่ทำได้ยากอีกด้วย แต่ผมเชื่อว่าในอนาคต Additive Manufacturing จะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญอย่างแน่นอน และอีกสิ่งที่ต้องคิดคือ เราจะพัฒนาบุคลากร ให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างไร”

Mr. Tomohisa Yamazaki  “ปัจจุบัน การผลิตต้องการทักษะ IT มากขึ้น แต่บุคลากรที่มีทักษะ IT กลับขาดแคลนเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าจะมีการสนับสนุนในภาคการศึกษาแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่เข้าสู่วัยทำงานแล้วเช่นกัน”

Mr. Yoshiharu Inaba  “ผมจึงคิดว่า ในอนาคต e-Learning จะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง หรือถ้าสามารถอบรมด้วยภาพได้ก็จะสะดวกไม่น้อย”


บรรยากาศโต๊ะประชุม ประธาน และรองประธาน Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA)