ผู้ผลิต Machine Tools ญี่ปุ่น รุกตลาดเอเชีย มุ่งความยั่งยืนระยะยาว

อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 1,029 Reads   

ผู้ผลิต Machine Tools และผู้ผลิตชิ้นส่วนค่ายญี่ปุ่น เร่งลงทุนในเอเชียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับยอดตัวเลขการลงทุนในภูมิภาคเอเชียในช่วงปี 2020 - 2030 ซี่งจากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุน 1.5 ล้านล้านเยน เป็น 2 ล้านล้านเยน เพื่อยกระดับโครงสร้างการผลิตในเอเชีย เสริมสร้างความมั่นคง และกำลังผลิตสำรองในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางนี้ในภายหลัง โดยตัวอย่างผู้ผลิตที่เข้าลงทุนในเอเชีย มีดังต่อไปนี้

  • Okuma พิจารณาสร้างโรงงานใหม่เพิ่มในไต้หวัน หลังจากที่โรงงานซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จเริ่มดำเนินการผลิตได้ไม่นานนัก
  • Tsugami ที่มีกำหนดสร้างโรงงานใหม่ในจีนและอินเดีย
  • Sodick ซึ่งต่อเติมโรงงานในไทยแล้วเสร็จ
  • Citizen Machinery ซึ่งเตรียมขยายโรงงานที่ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม 
  • THK ซึ่งลงทุนโรงงานผลิต LM Guide ในอินเดีย

จีนและเอเชียตะวันออก ไปได้ดีแม้สมาร์ทโฟนตก

รายงานยอดออเดอร์ Machine Tools ในช่วงครึ่งแรกของปี 2018 ซึ่งจัดทำโดย Japan Machine Tool Builders’ Association (JMBTA) รายงานดังต่อไปนี้

  • ประเทศจีน 1.828 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.2% ซึ่งแม้ว่ายอดจากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนจะลดลง แต่ได้ยอดจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรทั่วไปและอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้น จนชดเชยในส่วนนี้
  • ประเทศไต้หวัน 1.73 หมื่นล้านเยน เพิ่มขึ้น 32.0% 
  • ประเทศเกาหลีใต้ 2.19 หมื่นล้านเยน เพิ่มขึ้น 19.6%

Tsugami ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องกลึงอัตโนมัติ (CNC Precision Automatic Lathe) อันดับ 1 ในประเทศจีน ได้เล็งเห็นว่าปัจจุบัน ยอดออเดอร์ที่ได้รับนั้นสูงกว่ากำลังผลิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณปีละ 10,000 เครื่อง จึงอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานซึ่งมีกำลังผลิตอยู่ที่ปีละ 1,200 เครื่อง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 ซึ่ง Mr. Takao Nishijima ประธานและกรรมการผู้จัดการ กล่าวแสดงความเห็นว่า “เราต้องการแก้ปัญหาขีดจำกัดทางการผลิตของเรา”

โดย Tsugami ได้วางแผนหาพื้นที่ สำหรับเปิดโรงงานพื้นที่ 14,000 ตารางเมตร ภายในบริเวณเซี่ยงไฮ้ในอนาคต และสร้างโรงหล่อโลหะเพิ่มในจีนเป็นแห่งที่ 2 ซึ่งจะทำให้ Tsugami มีกำลังผลิตในจีนเพิ่มขึ้น 10% ด้วยกัน

ส่วน Okuma นั้น ได้ยกระดับกำลังผลิตของตนที่ประเทศไต้หวันขึ้นมาจากเดิมได้ 50% ในเดือนสิงหาคมนี้  โดยได้ต่อเติมโรงงานของ TATUNG-OKUMA เพิ่มกำลังผลิตเครึ่งกลึง (Lathe) และเครื่องแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์แนวตั้ง (Vertical Machining Center) ซีรี่ส์ “GENOS” ขึ้นมาอยู่ที่เดือนละ 300 เครื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้ในตลาดโลก รวมถึงวางแผนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในบริเวณใกล้เคียงอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 30 - 40%

อินเดีย ขาประจำสั่งเครื่องขนาดใหญ่

ผู้ผลิต Machine Tools ค่ายญี่ปุ่น ที่มีฐานการผลิตในประเทศอินเดียมีอยู่น้อยรายมาก อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งปิดที่ 2.33 หมื่นล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.0% นั้น หากไม่นับประเทศจีนแล้ว พบว่าเป็นยอดที่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะ Makino และ Mitsubishi Heavy Industries Machine Tools ซึ่งได้รับยอดสั่งซื้อในเดือนพฤษภาคมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเครื่องขนาดใหญ่ซึ่งมากเป็นประจำในทุกเดือน

ปัจจุบัน ทั้ง Makino และ Tsugami ต่างทำการผลิตในอินเดียทั้งคู่ ส่วนประธาน Hiroshi Teramachi จาก THK ได้กล่าวแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ในตลาดอินเดียว่า “ปัจจุบันมีสภาพเหมือนจีนช่วงก้าวกระโดดในปี 1996 - 2000” และได้วางแผนสร้างโรงงานผลิต LM Guide ที่อินเดียให้เริ่มผลิตได้ในเดือนมกราคม 2020

นอกจากนี้ THK ยังได้วางแผนล่วงหน้าไปถึงโรงงานใหม่แห่งใหม่ ซึ่งในช่วงแรกจะมีพื้นที่ 34,000 ตารางเมตร และได้จับจองพื้นที่สำหรับการต่อเติมในอนาคตเอาไว้แล้ว ซึ่งเป็นการเสริมกำลังผลิตให้พร้อมรับกับความต้องการในอินเดีย และรองรับการส่งออกในอนาคต

ส่วน Tsugami นั้น นอกจากแผนเสริมกำลังผลิตในอินเดียแล้ว ยังมีกำหนดยกระดับการผลิตให้มากกว่าปัจจุบันอีก 2 เท่า ในอีก 3 ปีหลังจากนี้

ไทยฟื้นตัว อุตสาหกรรมยานยนต์พุ่ง

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศญี่ปุ่นคือประเทศไทย ซึ่งมียอดสั่งซื้อมากถึง 1.56 หมื่นล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.4% ซึ่งแม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็น    “ดีทรอยต์แห่งตะวันออก” อยู่ช่วงหนึ่งจะเกิดการชะลอตัว แต่ในปี 2018 นี้ พบว่ามีแนวโน้มสูงที่ยอดผลิตจะกลับมาแตะ 2 ล้านคันได้หลังจากไม่ถึงเป้ามาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งแม้จะยังห่างจากช่วงพีคในปี 2013 ซึ่งมียอดผลิตถึง 2.45 ล้านคัน แต่ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของตลาดไทยได้

หากมองในฐานะฐานการผลิต Machine Tools แล้ว แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่มีภาพลักษณ์ในทางนี้มากนัก แต่ Sodick, OKK, และ Citizen Machinery ก็ได้เข้ามาก่อตั้งโรงงานในไทยหลังจากที่ Okamoto เป็นผู้บุกเบิกในช่วงปี 1980 ซึ่งทุกรายโฟกัสไปที่การส่งออกมากกว่าที่จะมุ่งไปที่ลูกค้าในประเทศไทย

ปัจจุบัน Citizen Machinery อยู่ระหว่างการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการขยายโรงงานบาตังกัส ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อยกระดับการผลิตเครื่องกลึงอัตโนมัติ (CNC Automatic Lathes) ขึ้นมาอยู่ที่ปีละ 960 เครื่องในปี 2019 เพื่อตอบรับยอดที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอุปกรณ์เคหะภัณฑ์

นอกจากนี้ Citizen Machinery ยังมีแผนเสริมกำลังผลิตของโรงงานทำสีในไทยขึ้นอีก 3 เท่า และโรงหล่อในเวียดนามขึ้น 30% อีกด้วย

ส่วน Sodick นั้น ได้ทำการเพิ่มกำลังผลิตในไทยขึ้น 20% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนผู้ผลิตรายอื่นนอกอุตสาหกรรม Machine Tools เช่น Komatsu นั้น ก็ได้เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการเปิดโชว์รูมที่อินโดนีเซียเช่นกัน ซึ่งประธาน Nobuaki Kawanishi กล่าวแสดงความเห็นว่า “อินโดนีเซียเป็นตลาดที่คาดหวังในการเติบโตได้”