Mobile Manipulator อีกหนึ่งอนาคตจากงาน WRS

อัปเดตล่าสุด 23 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 1,316 Reads   

อีกหนึ่งโจทย์การแข่งขันจากงานการแข่งขันทางเทคโนโลยีจากงาน World Robot Summit (WRS) 2018 ซึ่งได้แสดงผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ “Mobile Manupulator” เทคโนโลยีที่จะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถทำงานไปพร้อมกันกับการเคลื่อนที่ได้ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต่างตีโจทย์นี้ด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีที่ต่างกันไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประเมินแล้วว่า ก่อนที่เทคโนโลยีนี้จะนำมาใช้จริงได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกขั้นหนึ่ง

โดยในโจทย์นี้เอง หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐาน คือ “HSR” ของ Toyota ซึ่งลดจำนวนข้อต่อของแขนหุ่นยนต์ลง แล้วเพิ่มกลไกการเคลื่อนในในทิศทางต่าง ๆ รวมถึงการหมุน เพื่อให้สามารถปรับตำแหน่งการทำงานได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์รุ่นนี้ไม่สามารถทำงานได้แม่นยำมากนัก เนื่องจากพื้นที่ซึ่งถูกใช้ในการแข่งขันมีความลื่น ส่งผลให้เมื่อหุ่นยนต์เคลื่อนที่แล้ว ไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดไว้

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการดัดแปลงตัวหุ่นให้สามารถทำงานได้แม่นยำขึ้น ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์เสริม เพื่อให้สามารถตรวจจับชิ้นงานหลังการเคลื่อนที่ได้ และทำงานโดยที่ตัวหุ่นหยุดอยู่กับที่แทน ซึ่งยังคงไม่เป็นไปตามโจทย์ที่กำหนดไว้ว่า ให้หุ่นยนต์สามารถทำงานไปพร้อมกับเคลื่อนที่ไปได้

ศาสตราจารย์ Hiroyuki Okada จาก Tamagawa University กล่าวแสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีการเคลื่อนที่ และเทคโนโลยีการหยิบจับชิ้นงานนั้น มีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็จริง แต่เมื่อนำมารวมกันแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือยังไม่สามารถทำงานพร้อมกันได้” ก่อนเสริมว่าสิ่งนี้เองที่เป็นสาเหตุให้ Mobile Manupulator จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะรวมทั้ง 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกันเสียก่อน

ในทางกลับกัน Mobile Manupulator ซึ่งใช้มนุษย์ควบคุม แทนที่การใช้ระบบอัตโนมัติ ได้แสดงศักยภาพในการทำงานออกมาอย่างน่าประทับใจ โดยผู้เข้าแข่งขันที่แสดงผลงานนี้ไว้ คือ ทีมจาก Kyoto University ซึ่งได้สาธิตการใช้ Mobile Manupulator ในงานวางโครงสร้างพื้นฐานและงานกู้ภัย โดยใช้แขนหุ่นยนต์แบบกึ่งอัตโนมัติ ร่วมกับการตรวจวัดพื้นผิวแบบอัตโนมัติ ซึ่งคณะกรรมการได้ลงความเห็นว่า เป็นรูปแบบการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปประยุกต์ได้ในหลายสาขา และควรค่าแก่การสนับสนุนให้พัฒนาต่อไปสู่การใช้งานจริง