เทรนด์เทคโนโลยีการขนส่งโลจิสติกส์ จากโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2019

อัปเดตล่าสุด 31 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,074 Reads   

ผู้ผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์เผยเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตสำหรับการขนส่งโลจิสติกส์ภายในงาน “โตเกียวมอเตอร์โชว์ 2019” ด้วยรถต้นแบบ, แพลตฟอร์ม, รถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell Vehicles: FLV) และเทคโนโลยีอื่น ๆ อาทิ ระบบขับขี่อัตโนมัติและขบวนรถบรรทุก รถบรรทุกไฟฟ้า เพื่อตอบรับต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้น

ปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัญหาที่พบได้ในทุกอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่หลายของธุรกิจ e-commerce ซึ่งกระตุ้นให้ความต้องการขนส่งสินค้า และจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นำมาซึ่งความต้องการระบบขับขี่อัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่ง 2 ค่ายที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้เป็นพิเศษ คือ Isuzu และ UD Truck

Mr. Masanori Katayama ประธานบริษัท Isuzu กล่าวแสดงความเห็นภายในงานมอเตอร์โชว์ว่า “คุณภาพของรถบรรทุกมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โดยตรง” และเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ และขบวนรถบรรทุก จะช่วยลดภาระของพนักงานได้เป็นอย่างมาก ช่วยให้พนักงานขับ 1 คน สามารถขนส่งสินค้าต่อเที่ยวได้มากขึ้นด้วยรถบรรทุก 2 คันขึ้นไป และตั้งเป้าพัฒนา “FL-IR” รถบรรทุกรุ่นใหม่ของบริษัท ที่รองรับเทคโนโลยีทั้ง 2 และมีรูปทรงที่อ้างอิงมาจากปลาฉลาม ให้ใช้งานจริงได้ในปี 2025 

ส่วน UD Truck ได้ทำการเปิดตัว “Quon Concept 202X” รถบรรทุกต้นแบบขนาดใหญ่ภายในงาน ซึ่งมีกำหนดการณ์ติดตั้งเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 และตั้งเป้าพัฒนาให้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานจริงภายในปี 2020 รวมถึงเผยแผนพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าให้พร้อมผลิตจำนวนมากภายในปี 2030 

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบส่งกำลัง (Powertrain) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็มีความคืบหน้ามากขึ้น โดย Mitsubishi Fuso Truck and Bus ได้ทำการเปิดตัว “Vision F-CELL” รถบรรทุกขนาดเล็กซึ่งใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแทนน้ำมัน โดย Mr. Hartmut Schick ประธานบริษัท ได้แสดงความเห็นภายในงานว่า “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทำให้เครื่องยนต์เงียบกว่าการใช้เครื่องดีเซลมาก และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย” นอกจากนี้ ยังใช้เวลาชาร์จไฟเพียง 2 นาที และวิ่งได้ไกลถึง 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครึ่ง อย่างไรก็ตาม รถบรรทุกรุ่นนี้ยังไม่มีกำหนดการผลิตจริงแต่อย่างใด


Hino “FlatFormer”

Mr. Yoshio Shimo ประธานบริษัท Hino แสดงความเห็นว่า “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ต้องการความอเนกประสงค์มากขึ้น” พร้อมเปิดตัว “FlatFormer” ต้นแบบโครงสร้างรถบรรทุกอเนกประสงค์ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับรถรับส่งนักเรียนทั่วไป และสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย และเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่า ความต้องการด้านโลจิสติกส์ที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อแนวทางการพัฒนารถยนต์เชิงพาณิชย์ของค่ายรถโดยตรง และมีแนวโน้มว่า การพัฒนารถบรรทุกในอนาคต จะคึกคักขึ้นมากกว่านี้ก็เป็นได้