203-CPTPP-Thailand-อุตสาหกรรมยานยนต์

ญี่ปุ่นมั่นใจ ไทยร่วม CPTPP จะเป็นผลดีต่อซัพพลายเชน อุตฯ ยานยนต์แปซิฟิก

อัปเดตล่าสุด 26 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 1,432 Reads   

Japan External Trade Organization (JETRO) เผย ไทยมีกำหนดการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ภายในเดือนเมษายน 2020 นี้ ซึ่งหากการเข้าร่วมเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ไทย และเม็กซิโก 2 ประเทศคลัสเตอร์สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จะเชื่อมโยงกันผ่านภายใต้ข้อตลงลงทางการค้าเสรี นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศ ยังมีสิ่งที่คล้ายกัน คือ การมียานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากค่ายญี่ปุ่นเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ 

Mr. Eitaro Kojima ผู้อำนวยการ Japan External Trade Organization (JETRO) สำนักงานเอเชียแปซิฟิก รายงานว่า ตั้งแต่เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เมื่อเดือนมกราคม 2019 ธุรกิจญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้เริ่มปรับผังซัพพลายเชนให้เวียดนาม และเม็กซิโกสามารถทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “หากไทยเข้าร่วมแล้ว จะสามารถก่อให้เกิดซัพพลายเชนยานยนต์ที่ทรงประสิทธิภาพในภาคพื้นแปซิฟิกอย่างแน่นอน”

โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวกับ Mr. Yasutoshi Nishimura รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ถึงแนวทางการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ซึ่ง Mr. Yasutoshi Nishimura ได้แสดงความจำนงให้ไทยเริ่มเข้าร่วมการประชุมกับเม็กซิโกในเดือนสิงหาคมนี้

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP แล้ว การแข่งขันระหว่างไทยกับเวียดนามจะสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสองเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน และได้รับความนิยมจากภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นทั้งคู่ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ค่าแรงที่ถูกกว่า และความสะดวกในการส่งออกสินค้าไปยังจีนที่สูงกว่า ทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นหลายรายตัดสินใจลงทุนในเวียดนามแทนที่ไทย นอกจากนี้ เวียดนามยังมีกำหนดบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรปในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเดินตามหลังเวียดนามไปอีก

ในอีกด้านหนึ่ง Mr. Junichi Sugawara นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Mizuho Research Institute แสดงความเห็นว่า ไทยมีข้อได้เปรียบ คือ “มาตรฐานในการทำงานที่สูงกว่า” ซึ่งสำหรับธุรกิจญี่ปุ่นแล้ว เป็นปัจจัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นว่า ไทยจะเปิดกว้างเสรีในด้านอื่น ๆ เช่น E-Commerce และงานบริการหรือไม่ รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเช่นข้าว และเนื้อไก่ ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้