Hitachi High-Tech เผย 5 เรื่องใหญ่ ที่คนโลหะการต้องตามให้ทัน

อัปเดตล่าสุด 16 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 978 Reads   

เมื่อเทคโนโลยีแห่งโลกยุคใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ได้เข้ามามีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต ทั้ง Industry 4.0, IoT, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), Additive Manufacturing, และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งหลายภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับโลหะนั้นเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  Hitachi High-Tech Analytical Science ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันงานวิเคราะห์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในเครือ Hitachi High Technologies Group กลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมระบบวิเคราะห์, เครื่องมือแพทย์, Semiconductor Manufacturing Equipment, ระบบ IT สำหรับภาคอุตสาหกรรม, และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงได้จัดทำเอกสาร “Whitepaper: Metals Analysis” รวบรวม 5 เรื่องใหญ่ ที่โลกโลหะการมิอาจเพิกเฉยได้ เพราะใครที่ตามไม่ทันจะต้องพ่ายแพ้ และเดินออกจากเส้นทางนี้ 

1. 3D Printing ในอุตสาหกรรมโลหะ

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกำลังตื่นตัวกับเทคโนโลยี 3D Printing ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลิตชิ้นงานที่รวดเร็ว และซับซ้อน ซึ่งไม่อาจทำได้ด้วยการกัด, เจาะ, หล่อ, และขึ้นรูป อีกทั้งยังมีของเสียจากผลผลิตต่ำ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดวัสดุเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับทูลส์ต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยี Direct Metal Laser Sintering (DMLS) ได้ถูกคิดค้นขึ้น ทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนโลหะที่ทนทานเทียบเท่ากระบวนการผลิตทั่วไป รองรับวัสดุอย่างหลากหลาย ทั้งอะลูมิเนียม, โคบอลต์, เหล็กสเตนเลส, ไทเทเนียม, และกระทั่งทังสเตน ซึ่งแม้ DMLS จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่เทคโนโลยีขั้นถัดไป ที่รวดเร็วกว่า ปลอดภัยกว่า และถูกกว่าถึง 90% ซึ่งกำลังจะมาถึงนั้น ทำให้ 3D Printing ที่นักอุตสาหกรรมไม่อาจมองข้ามได้อย่างแน่นอน 

 

2. งานวิเคราะห์โลหะ และ Big Data

เพราะชิ้นส่วนชำรุดเพียงชิ้นเดียวอาจหมายถึงหายนะทางการเงิน กระบวนการตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพ (Quality Assurance) ในอุตสาหกรรมโลหะการจึงกลายเป็นกฎเหล็กถึงทุกวันนี้ และด้วยการมาถึงของยุค IoT ทำให้งานวิเคราะห์สามารถทำได้ทุกที่ที่มี Wi-Fi ด้วยการสแกนชิ้นงาน และรับส่งข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งเมื่อรวมกับ Big Data งานวิเคราะห์โลหะก็จะรวดเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น สอดคล้องไปกับมาตรฐานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความสามารถในการสืบค้นย้อนกลับ นำมาซึ่งการประหยัดเวลา อันเป็นต้นทุนที่มีนัยยสำคัญต่อการผลิต

 

3. เมื่อการ “แข่งขันที่สูงขึ้น” สวนทางกับ “คุณภาพที่ต่ำลง”

เป็นที่ทราบกันดีในภาคอุตสาหกรรมว่า การผสมโบรอน (Boron) ราคาถูกลงไปในเหล็กอัลลอย สามารถช่วยลดภาษีส่งออกเหล็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป หรือใช้โบรอนคุณภาพต่ำเกินไป เหล็กอัลลอยที่ได้ก็จะแตกหักง่าย อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่มากขึ้น ผู้ส่งออกหลายรายจึงให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนเช่นนี้เป็นหลัก ทำให้คุณภาพโลหะในปัจจุบันด้อยลงกว่าเมื่อหลายปีก่อน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโลหะการ ที่จะต้องตรวจสอบคุณภาพวัสดุ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

 

4. ขาขึ้นของหุ่นยนต์ (และขาลงของงานประสิทธิภาพต่ำ)

หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานมากขึ้น โดยรายงานของ PricewaterhouseCoopers (PwC) ระบุว่า 59% ของผู้ผลิตมีการใช้หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ต่างเป็นอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าในการนำหุ่นยนต์มาใช้เป็นอย่างมาก ด้วยขีดความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพแบบอัตโนมัติ และทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังทำงานได้ในแทบทุกสภาพแวดล้อม ทำให้หลายคนแสดงความกังวลว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ในความเป็นจริง เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่กระบวนการทำงานที่ซ้ำซาก หรือมีความเสี่ยงแล้ว มนุษย์นี่เอง ที่จะสามารถย้ายไปสู่ตำแหน่งงานที่มีความน่าสนใจมากขึ้นได้ 

 

5. วัสดุ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มนุษย์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่วัสดุคุณภาพสูงอย่างอินเดียม (Indium) ถูกคาดการณ์ว่าจะหมดจากโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมโลหะการจึงต้องให้ความสำคัญกับวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% เช่นเดียวกับกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์มีการทำ Mapping โลหะทุกชนิดที่ใช้ หรือการรีไซเคิลวัสดุราคาแพงในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

 

สำหรับผู้สนใจอ่านเอกสารฉบับเต็ม สามารถ คลิก เพื่อดาวน์โหลด