ดัชนีความเชื่อมั่น พฤศจิกายน 2561

อัปเดตล่าสุด 20 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 352 Reads   
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 1,210 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 92.6 ในเดือนตุลาคม เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทุกองค์ประกอบ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
จากการสำรวจพบว่า ในเดือนพฤศจิกายน ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธันวาคม 
 
ขณะเดียวกันพบว่าผู้ประกอบการ   มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ต้นทุนประกอบการได้รับผลดีจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจากเดือนตุลาคม 
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 107.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.7  ในเดือนตุลาคม สะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ในระดับที่ดี ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค
 
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม โดยมีรายละเอียดมีดังนี้ 
 
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (สินค้าประเภทกระจกแผ่นเรียบ กระจกนิรภัย มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในธุรกิจก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ขวดแก้วสำหรับบรรจุเครื่องดื่ม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น)
  2. อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และฟอยด์สำหรับห่อหุ้มอาหาร มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากในประเทศ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น)
  3. อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐและภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านการ-ส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชียและยุโรป)
 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 109.9 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นใยสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม ด้านการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน   มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเวียดนาม)
  2. อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าเซรามิก ประเภทจานชามบนโต๊ะอาหาร มียอดขายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น สินค้าประเภท กระเบื้องปูพื้นบุผนัง และสุขภัณฑ์ มีคำสั่งซื้อจากในประเทศเพิ่มขึ้นจากธุรกิจก่อสร้าง)
  3. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปประเภทไม้และเหล็ก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในการตกแต่งบ้านและคอนโด ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ)
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.5 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โทรศัพท์มือถือ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อกันหนาว มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทเสื้อผ้าสตรี และเสื้อผ้าเด็ก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ, ยุโรป และเอเชีย)
  3. อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ (คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง)
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 103.1 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และจีน ผลิตภัณฑ์อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม สินค้าคอมเพรสเซอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน)
  3. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าประเภทอัญมณี มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากในประเทศและตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ เยอรมัน และฮ่องกง ขณะที่เครื่องประดับเงินมาร์คไซต์ พาลาเดียม มียอดการส่งออกไปอินเดียเพิ่มขึ้น เนื่องจากเครื่องประดับเงินของไทยเป็นที่นิยม)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 113.0 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะแลแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ และออสเตรเลีย)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.8 ในเดือนตุลาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
 
ในระยะสั้น ผู้ประกอบการเสนอให้ภาครัฐใช้โอกาสจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีข้อพิพาท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรปรับตัว เน้นการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดอาเซียน
 
 
อ่านต่อ