ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1/2564

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาส 1/2564

อัปเดตล่าสุด 8 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 4,214 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ 103.26 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 7.6 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปี 2563 ร้อยละ 0.3

Advertisement

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2564  GDP หดตัวร้อยละ 2.6 โดยชะลอตัวเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่หดตัวร้อยละ 2.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่หดตัวร้อยละ 4.2

ผลผลิตมวลรวมของภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและดีขึ้นสามไตรมาสต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกที่มีความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง แม้ว่าทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม

GDP ภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 0.7 และขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.4 โดยปรับตัวดีขึ้นตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและเพื่อบริโภคในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สําคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 103.26 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (95.99) ร้อยละ 7.6 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปี 2563 (103.00) ร้อยละ 0.3

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องปรับอากาศ และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น 
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น และ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 99.58 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (97.40) ร้อยละ 2.2 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (100.39) ร้อยละ 0.8 

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตน้ำตาล และการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น เป็นต้น 
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม การผลิตน้ำตาล
    และการผลิตเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง​ ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 139.41 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (127.32) ร้อยละ 9.5 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (137.88) ร้อยละ 1.1 

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ
    เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน และการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อยู่ที่ระดับร้อยละ 67.09 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 63.77 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 66.94

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องปรับอากาศ และการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์
    ขั้นต้น และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีค่าดัชนี 85.30 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (86.40) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (90.13) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 92.37 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 (97.83) 

ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการลดลงของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ยังเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในไทยเป็นระลอกที่ 2 ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าการระบาดในรอบแรกและขยายขอบเขตไปหลายจังหวัด รวมทั้งกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่พยุงเศรษฐกิจ ภาคการผลิตยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า น้ำประปา และอินเทอร์เน็ต) สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและประชาชนในระยะเร่งด่วน (เดือน ม.ค. - มี.ค. 2564) มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 อาทิให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วถึงโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

 

อ่านต่อ: