ส่งออกไทย เดือน ก.ค. ฟื้นตัว หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ส่งออกไทย เดือน ก.ค. 63 มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 697 Reads   

พาณิชย์ เผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกรกฎาคม 2563 การส่งออก หดตัว 11.37% แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังผ่านจุดต่ำสุดในเดือนมิถุนายนมาแล้ว ภาพรวม 7 เดือนแรก หดตัว 7.72% 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม 2563 มีมูลค่า 18,819.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 11.37 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 15,476.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 26.38 การค้าเกินดุล 3,343.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 133,162.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.72 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 119,118.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.69 ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 14,044.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เดือนกรกฎาคม 2563 การส่งออกของไทยมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า และการส่งออกทั้งรายสินค้าและรายตลาดต่างส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ดี โดยการส่งออกรายสินค้ายังมีการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าเดิมเช่นเดียวกับเดือนก่อน โดยแบ่งสินค้าได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

                 
1. สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง
                   
2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์
                   
3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง
                   
4. สินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น

สำหรับการส่งออกรายตลาด มูลค่าการส่งออกเกือบทุกตลาดหดตัวในอัตราที่น้อยลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 17.8% ขณะที่การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในแหล่งการผลิตสำคัญอย่างมณฑลอู่ฮั่น


แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า การส่งออกของไทยคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ภาพรวมการส่งออกจะยังคงหดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ พบว่าสินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพที่จะสามารถผลักดันการส่งออกของไทยให้กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิต รวมทั้งมีความได้เปรียบในด้านความปลอดภัยของอาหารสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สินค้าอาหารของไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้อีกมาก ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือนี้ไว้ นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มวิถีนิวนอร์มอล (New Normal) มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการพักอาศัย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การหดตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะต่อไป

สำหรับการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน สู่ตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย กัมพูชา สหรัฐฯ และจัดตั้งร้านค้าท็อปไทย (TOP Thai Store) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของต่างประเทศ และต่อยอดพัฒนาเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม (Thaitrade.com) สู่การเป็นตลาดกลางให้บริการในรูปแบบธุรกิจกับธุรกิจ (National B2B E-Marketplace) อย่างครบวงจร รองรับระบบการชำระเงินอีเพย์เมนท์ เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยสู่แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้นำเข้าในต่างประเทศทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เชื่อมโยงและสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย และเร่งสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ ให้มีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศในยุคนิวนอร์มอล


อ่านเพิ่มเติม: