ทลายข้อจำกัดด้าน “ข้อมูล” ด่านต่อไปของ AI FOR THAI

ทลายข้อจำกัดด้าน “ข้อมูล” ด่านต่อไปของ AI FOR THAI

อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 745 Reads   

เปิดตัวไปเมื่อ 9 ก.ย. 2562 สำหรับ AI FOR THAI แพลตฟอร์มให้บริการ AI สัญชาติไทย ผลงานวิจัยและพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ Machine learning ที่เน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึง AI

ล่าสุดได้จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้ความรู้กับผู้สนใจจะเป็นนักพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ ด้วย AI FOR THAI และกำลังเตรียมจะจัด “แฮกกาธอน” เพื่อช่วยกันระดมสมองพัฒนาโซลูชันใหม่ ๆ ที่จะมาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

“ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีผู้พัฒนา AI อยู่บ้าง แต่ก็หายากมากและมักอยู่กับบริษัทใหญ่ ๆ หรือบริษัทต่างประเทศ ทำให้บริษัทไทย SMEs เอื้อมไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้ต้องไปพึ่งเทคโนโลยีของต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง

เร่งกระตุ้นการประยุกต์ใช้

AI FOR THAI จึงต้องการเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้อยากจะใช้เทคโนโลยีนี้ โดยมีทั้งแพลตฟอร์ม โซลูชัน รวมถึงนักวิจัยที่จะคอยซัพพอร์ตความต้องการของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั้งยังเผยแพร่ความรู้ด้าน AI โดยเดินสายเทรนนิ่งเวิร์กช็อปร่วมกับแคเรียร์ อคาเดมี ฟอร์ เดอะฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ สวทช. โดยมีทั้งหลักสูตรผู้บริหาร เพื่อให้รับทราบสถานะการพัฒนาเทคโนโลยี ตัวอย่างการประยุกต์ใช้กับหลักสูตรสำหรับนักพัฒนาที่จะอบรมการใช้งานของแพลตฟอร์ม โซลูชั่นต่าง ๆ

AI FOR THAI ตอนนี้มีหลายโซลูชั่นที่คนจับต้องได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สปีชทูเท็กซ์ ถอดเสียงพูดเป็นตัวอักษร ซึ่งประยุกต์ใช้ทั้งในการถอดเสียงการประชุม การทำตัวอักษรแทนเสียงของรายการทีวีเพื่อผู้พิการ งานของเนคเทคจะเป็น API ที่เป็นรากฐานสำหรับการสร้างโซลูชั่นต่าง ๆ ให้ถึงผู้ใช้ปลายทางจริง ๆ หรือระบบการวิเคราะห์เซนติเมนต์ ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลข้อความในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อแบรนด์ต่าง ๆ”

สำหรับงบประมาณในการพัฒนาเป็นงบฯของ สวทช. เป็นงานวิจัยต่อเนื่องสะสมมากกว่า 20 ปีแล้ว จากกว่า 10 โครงการ เพื่อทำแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้ใช้งานง่ายขึ้น

จากเดิมต้องมีการทำเรื่องติดต่อขอประสานตามเกณฑ์ของหน่วยงานราชการ แต่เมื่อเป็นแพลตฟอร์มแล้วจะสามารถตอบสนองการใช้งานได้ทันที หลังสมัครผ่านเว็บไซต์ AI FOR THAI-Thai AI Service Platform https://aiforthai.in.th  และเป็นการใช้งานที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ตราบใดที่เป็นการพัฒนาที่ยังไม่ได้แสวงหากำไร แต่ถ้าเริ่มสามารถสร้างโซลูชั่นที่สามารถหารายได้ได้แล้วก็จะมีการเจรจาทำไลเซนส์ระหว่างกัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นต้น ๆ แล้วแต่ประเภทของโซลูชั่น ซึ่งจะมีหลักการคิดที่ชัดเจน และไม่แพงเหมือนการใช้งานแพลตฟอร์มของต่างประเทศ

มุ่งสร้างระบบนิเวศ

โดยจุดแข็งของ AI FOR THAI คือ การเข้าใจ “ภาษาไทย” ที่กว่า ขณะที่ระบบซีเคียวริตี้ต่าง ๆ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลทั้งหมด

“เราต้องการผลักดันการสร้างระบบนิเวศของ AI ในประเทศไทย ให้ AI ถูกนำไปใช้ในทุก ๆ ภาคส่วน ไม่ได้มองในแง่ของกำไรเลย”

เมื่อไม่ได้แสวงหากำไร การจะทำให้ AI FOR THAI ยั่งยืน จึงเน้นไปที่การของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนของภาครัฐเข้ามาซัพพอร์ต อาทิ กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อมากระตุ้นให้เกิดการใช้งาน และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ AI ให้แพร่หลายมากขึ้น

ขณะที่ความต้องการใช้ AI จะมาจากความต้องการทรานส์ฟอร์มตัวเองให้รับมือกับการถูกดิสรัปชั่น ซึ่งกลุ่มแรก ๆ คือ สถาบันการเงิน จึงได้เห็นการนำ AI มาใช้เพื่อให้บริการกับลูกค้า ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเริ่มนำไปใช้มากขึ้น คือ ด้านการแพทย์ การเกษตร

“โอเพ่นดาต้า” กำแพงกั้น AI

ปัญหาการนำ AI มาใช้ในไทย คือ การที่ AI จะฉลาดได้ จำเป็นต้องมี “ข้อมูล” ที่มาทำให้ AI ฉลาดขึ้น แต่ข้อมูลในมือภาครัฐ ส่วนใหญ่กลายเป็นข้อมูลที่ไม่เปิดให้หน่วยงานอื่นมาใช้ได้ ยังคง “หวงข้อมูล” หรือที่เปิดให้ใช้ได้ก็อยู่ฟอร์แมตที่ไม่เอื้อต่อการนำข้อมูลไปใช้งาน ภาครัฐยังไม่เข้าใจว่า “โอเพ่นดาต้า” ควรจะต้องเป็นอย่างไร อย่างข้อมูลดินฟ้าอากาศเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปใช้ประโยชน์ได้มาก

ในอีกด้าน คือ นักพัฒนา AI นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในไทยยังมีน้อย ที่มีส่วนใหญ่ก็ถูกซื้อไปอยู่กับบริษัทต่างประเทศ

“จะทำบิ๊กดาต้า ต่อให้มีข้อมูลมากแค่ไหน แต่ไม่มี AI มาช่วยวิเคราะห์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เป็นแค่กองข้อมูลใหญ่ ๆ ที่ทำอะไรไม่ได้ และ AI สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกอุตสาหกรรม ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องนี้ ทั้งในแง่งบประมาณ และการผลักดันให้เกิดโอเพ่นดาต้า”