เปิดแนวคิด “สถานีโดรน” อนาคต “โลจิสติกส์” เชื่อมรถขนส่งสินค้าอัตโนมัติ

เปิดแนวคิด “สถานีโดรน” อนาคต “โลจิสติกส์” เชื่อมรถขนส่งสินค้าอัตโนมัติ

อัปเดตล่าสุด 7 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 16,889 Reads   

♦ “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์” กำลังมองหาโซลูชันการขนส่งสินค้าอัตโนโมัติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

♦ ระบบขับขี่อัตโนมัติ เทรนด์มาแรงในยานยนต์ยุคใหม่ แต่ “ฉลาด” ไม่พอที่จะทำให้การขนส่งสินค้าอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ

♦ แนวคิด “สถานีโดรน” ถูกออกแบบขึ้น เพื่อเชื่อมต่อกับรถขนส่งอัตโนมัติ และสถานีขนถ่ายสินค้า ซึ่งการพัฒนาวิธีการขนส่งอัตโนมัติเช่นนี้จะทำได้รวดเร็วกว่า เพราะสิ่งกีดขวางบนอากาศมีน้อยกว่าบนถนน 

Advertisement

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์กำลังมองหาโซลูชันการขนส่งสินค้าอัตโนโมัติ สิ่งแรกที่ถูกนำมาพิจารณาคือระบบขับขี่อัตโนมัติ เทรนด์มาแรงของยานยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ทยอยออกสู่ตลาด โดยมีการทดลองใช้ในหลายประเทศ ซึ่งพบว่าความก้าวหน้าของระบบขับขี่อัตโนมัติปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลจิสติกส์ 

Mr. Kenzo Nonami ประธานมูลนิธิวิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced Robotics Foundation) จากประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติจะมีบทบาทสำคัญกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก เช่น เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติสำหรับโลจิสติกส์ Truck Platooning System  และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งสินค้า ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติในยานยนต์ทั่วไปที่ผู้บริโภคจะใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น

เปิดแนวคิด “สถานีโดรน” อนาคต “โลจิสติกส์” เชื่อมรถขนส่งสินค้าอัตโนมัติ

Mr. Kenzo Nonami ประธาน Advanced Robotics Foundation

“ยานยนต์ที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติมีความใกล้เคียงหุ่นยนต์มากขึ้น และในอนาคตที่การขับขี่อัตโนมัติมีประสิทธิภาพ เราจะเรียกยานยนต์เหล่านี้ว่า ‘Robot Car’ ก็ไม่แปลกนัก”

Mr. Kenzo Nonami แสดงความเห็นว่า ในอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุก 100 ปี ซึ่งแนวคิด CASE และ Connected Car คือความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และจะผลักดันให้ยานยนต์เชิงพาณิชย์ และหุ่นยนต์ลำเลียง เติบโตและมีศักยภาพมากพอที่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศมีความพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น และเริ่มมีการทดสอบรถบัสอัตโนมัติ และบริการยานยนต์แบบ On Demand 

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองใช้ยานยนต์อัตโนมัติขนส่งสินค้าในหลายประเทศ แต่พบว่า ยานยนต์ในปัจจุบันยังไม่ ‘ฉลาด’ พอที่จะทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์กลายเป็นระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ อีกทั้งการพัฒนายานยนต์ และยานพาหนะสำหรับการขนส่งสินค้าอื่น ๆ ให้ทำงานได้แบบไร้คนขับยังเป็นเรื่องยาก และต้องอาศัยเวลาอีกมาก ซึ่งในวงการผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้กล่าวว่า “หากจะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ส่งสินค้าได้ จะต้องฝึก AI ให้วิ่งเป็นระยะทางครบ 1 ล้านล้านไมล์ได้เสียก่อน”

อย่างไรก็ตาม Mr. Kenzo Nonami แสดงความเห็นว่า หากใช้โดรนขนส่งสินค้าทางอากาศก็จะสามารถลดเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาลงได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางอากาศมีสิ่งกีดขวางน้อยกว่าทางถนน และหากนำมาปรับใช้ร่วมกับระบบโลจิสติกส์ในปัจจุบันได้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีความก้าวหน้าขึ้น และเข้าใกล้ความเป็นอัตโนมัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ใช้ “โดรนขนส่งสินค้า” ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้อย่างไร?

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทดลองใช้โดรนขนส่งสินค้าบินลอดอุโมงค์ และมีการทดลองบินเหนือพื้นที่แออัดในเดือนถัดมา ซึ่ง Mr. Kenzo Nonami ได้วาดภาพโครงสร้างโลจิสติกส์ในอนาคตว่า โดรนจะถูกนำมาใช้ร่วมกับรถบรรทุกอัตโนมัติในการขนส่ง โดยการขนส่งทางไกล เช่น การส่งสินค้าข้ามจังหวัด สินค้าจะถูกลำเลียงด้วยรถบรรทุกที่ติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติแบบต่าง ๆ และเมื่อเข้าถึงชานเมืองแล้ว สินค้าเหล่านั้นจะถูกบรรจุเข้าไปในโดรน หรือรถขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ (AGV) เพื่อให้การขนส่งสินค้าในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

หรืออีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือการใช้โดรนขนส่งสินค้าจากสถานีขนส่งสินค้าหนึ่ง ไปอีกสถานีขนส่งสินค้าหนึ่ง แล้วจึงใช้ AGV ที่ติดตั้งเทคโนโลยีเซนเซอร์, AI, และ Dynamic Map เพื่อให้รถขนส่งสินค้าสามารถวิ่งไปตามถนน และทางเท้าได้อย่างปลอดภัยจนกว่าจะถึงปลายทาง ไปจนถึงการเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายจราจรเพื่อให้รถขนส่งสินค้าจอดตามสัญญาณไฟได้   

Mr. Kenzo Nonami ย้ำว่า การทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอนาคตที่ไม่ไกลเกินตัว และมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และประเทศที่มีจำนวนแรงงานต่ำ ซึ่งโซลูชันและโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีความอัตโนมัติ จะมีความจำเป็นในสังคมมากขึ้นในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน 

ชมคลิปข่าว : ตีให้แตก ทำไมหลายประเทศเร่งผลักดันใช้ “โดรนขนส่งสินค้า”