ผู้ผลิตเครื่องจักรปรับตัว มาดู “ลดคาร์บอน” ด้วย Machine Tools ยังไง?

“ลดคาร์บอน” คลื่นลูกใหญ่ที่กำลังท้าทาย “ผู้ผลิตเครื่องจักรกล”

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 11,237 Reads   

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ได้สร้างคลื่นลูกใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิต การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการ จึงไม่ใช่แค่เพียงโรงงานผลิตไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ปลายทางอย่างรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น 

Advertisement

สิ่งนี้จึงกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของผู้ผลิตเครื่องจักรต่าง ๆ ในสายการผลิต เพื่อพัฒนาให้เครื่องจักรกลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องยกระดับประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และระบบอัตโนมัติที่ดียิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

“ผู้ผลิตเครื่องจักรกล” จะรับมือคลื่นลูกนี้อย่างไร?

Mr. Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG MORI แสดงความเห็นว่า การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ และเปิดเผยว่า เมื่อมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ผู้ผลิตก็จะจำเป็นต้องหาเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และปล่อยก๊าซน้อยลงมาแทนที่เครื่องจักรเก่า ในขณะที่ลูกค้าหลายรายแสดงความต้องการลดเครื่องจักรในสายการผลิตให้น้อยลง และแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่างในเครื่องเดียวกัน 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีส่วนสำคัญต่อผู้ผลิตเครื่องจักรกลที่จำเป็นต้องปรับตัวตาม และทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดปรับเปลี่ยนในที่สุด พร้อมคาดการณ์ว่า 

“ความต้องการเครื่อง 5 แกน และเครื่องจักรที่มีอุปกรณ์วัดในตัวจะเพิ่มขึ้นในอนาคต” 

Mr. Shinichi Inoue ประธานบริษัท Makino แสดงความเห็นว่า เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ในทางกลับกัน ลูกค้าส่วนมากต้องการเครื่องจักรที่ทำงานได้นานและต่อเนื่องมากขึ้น ทางบริษัทฯ จึงอยู่ระหว่างวิจัยวัสดุใหม่ที่ทนทานและมีน้ำหนักเบา เพื่อให้ชิ้นส่วนภายในเครื่องจักรกินไฟน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และคาดว่า

“ภายในปีงบประมาณ 2021 วัสดุชนิดใหม่ที่ทนทาน น้ำหนักเบา จะนำมาใช้ในชิ้นส่วนโต๊ะรองชิ้นงาน หรือโครงสร้างเสา”

 

Advertisement

JTEKT แสดงความเห็นว่า อีกวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ คือการใช้เครื่องจักรที่มีความแม่นยำ เพื่อลดกระบวนการผลิตให้มีความซับซ้อนน้อยลง และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนใช้เป็นแนวทางในการผลิตมาแล้วหลายปี 

“เครื่องจักรที่มีความแม่นยำ จะลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิตและทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น”

 

Okuma มีความเห็นตรงกันกับค่ายอื่น ๆ และได้พัฒนา Machining Center รุ่นใหม่ที่รองรับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับกังหันลม และโซลาร์เซลล์ เพื่อตอบรับความต้องการลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมอื่นแทนที่

“พัฒนาเครื่องรุ่นใหม่สำหรับผลิตชิ้นส่วนกังหันลม โซลาร์เซลล์”

 

Amada เสริมว่า นอกจากการพัฒนาเครื่องจักรกลให้มีส่วนชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว ผู้ผลิตเครื่องจักรก็ต้องช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด้วย โดยเปิดเผยว่า 

“ภายในปีงบประมาณ 2030 จะมีการปรับแนวทางธุรกิจเพื่อลดก๊าซคาร์บอนให้ได้มากขึ้น”