ภารกิจ พิชิตดวงจันทร์ “1 คน ควบคุม 1,000 Avatar Robots”

อัปเดตล่าสุด 8 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,149 Reads   

รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งโครงการ “Moonshot Research & Development Program” มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแนวคิด High Risk, High Impact โดยตั้งเป้าหมายปลายทางที่เปรียบเสมือนภาระกิจพิชิตดวงจันทร์ไว้ว่า “ในปี 2050 มนุษย์ 1 คนสามารถควบคุม Avatar Robot ได้มากกว่า 1,000 ตัว” ซึ่งจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การใช้หุ่นยนต์ทำการเกษตรผ่านเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคตได้

จากการเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล สำนักงานคณะรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI), New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO), และอื่น ๆ จึงได้จัดตั้งโครงการ “Moonshot Research & Development Program” สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแนวคิด “High Risk, High Impact” โดยมี Milestone ดังนี้

  • ปี 2021 จำลองการหยิบจับของมือมนุษย์ด้วยข้อต่อจำนวนน้อย และเคลื่อนที่ทั้งในและนอกอาคารได้
  • ปี 2026 จำลองการหยิบจับที่แม่นยำมากขึ้นด้วยข้อต่อ 10 จุด
  • ปี 2030 มนุษย์ 1 คน ควบคุม Avatar Robot  10 ตัวขึ้นไป
  • ปี 2031 จำลองการทำงาน และการรับสัมผัสของมือมนุษย์โดยสมบูรณ์ เดินได้เหมือนคนจริง และทำงานอัตโนมัติได้ พร้อมนำเสนอเข้าสู่ตลาด
  • ปี 2040 มนุษย์ 1 คน ควบคุม Avatar Robot  100 ตัวขึ้นไป
  • ปี 2050 มนุษย์ 1 คน ควบคุม Avatar Robot  1,000 ตัวขึ้นไป

 

l รู้จักกับ Avatar Robot 

Avatar Robot หรือ Avatar Humanoid Robot คือ หุ่นยนต์ตัวแทนเสมือน ใช้เทคโนโลยีควบคุมระยะไกลสั่งการให้หุ่นยนต์ทำงาน มีแนวคิดมาจาก Avatar (อวตาร) ภาพกราฟฟิกซึ่งใช้แทนตัวตนในระบบคอมพิวเตอร์ และเริ่มนำแนวคิดนี้เข้ามาใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์เนื่องจากความคืบหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ และอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไป Avatar Robot จะถูกใช้เรียกหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์มากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงต้น การพัฒนาหุ่นยนต์ชนิดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการทำงานของร่างกายมนุษย์ และการนำไปใช้ในสถานที่เสี่ยง เช่น การออกแบบสำหรับงานกู้ภัย ไซต์งานก่อสร้าง ในอวกาศ หรือใช้เป็นตัวแทนในการสื่อสารทางไกล และยังไม่แยกออกมาจากการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์อย่างชัดเจน ปัจจุบันแนวคิดการพัฒนาได้ถูกต่อยอด และมีความเป็นไปได้ในหลายภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น งานบริการ หรือการนำมาใช้งานแทนที่มนุษย์ในสายการผลิต ซึ่งกำแพงที่ใหญ่ที่สุดของหุ่นยนต์ชนิดนี้ คือ ระบบเซนเซอร์ ที่จะทำให้ผู้ควบคุมรู้สึกเหมือนทำงานอยู่ในสถานที่จริง โดย XPRIZE Foundation ผู้จัดการแข่งขันพัฒนา Avatar Robot แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันการลงทุนหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์และระบบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระยะไกลมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,000-1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่สูงอยู่ ทำให้เทคโนโลยีนี้ยังห่างไกลสำหรับนำมาใช้จริง อย่างไรก็ตาม Jacki Morie ที่ปรึกษาทางเทคนิคแสดงความเห็นว่า ราคาอาจลงมาอยู่ที่ 2,000 - 10,000 ดอลลาร์ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้

 

l Sony ร่วม ANA พัฒนา Avatar Robot 

ปัจจุบัน Sony AI ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในเครือ Sony ได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยการร่วมกับ avatarin ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ตัวแทนเสมือน (Avatar Robot) และแพลตฟอร์มในเครือ ANA บรรลุข้อตกลงการพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล (Remote Controlling Technology) สำหรับหุ่นยนต์ยุคอนาคต โดยคาดการณ์ว่า ความต้องการหุ่นยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต 

Photo: avatar-in

ทั้งสองบริษัท บรรลุข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2020 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีความปลอดภัย ควบคุมง่าย และราคาถูก เพื่อใช้ทดแทนมนุษย์ในงานที่มีความเสี่ยง หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยี AI, Machine Learning, หุ่นยนต์จาก Sony, เทคโนโลยีควบคุมระยะไกลและฐานข้อมูลจากผู้ใช้จริงจาก avatar-in, ร่วมกับเทคโนโลยี Telepresence ซึ่งคาดการณ์ว่า หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้น นอกจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำงานทั่วไปในสำนักงาน หรือร้านค้าได้อีกด้วย

Mr. Hiroaki Kitano CEO บริษัท Sony AI กล่าวแสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีควบคุมระยะไกล จะช่วยให้หุ่นยนต์รองรับการทำงานได้หลากหลายยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ทำงานด้วยในสถานที่เดียวกัน ซึ่งในการพัฒนานั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลายประเภท ทั้งหุ่นยนต์, เซนเซอร์, AI, User Interface, และเครือข่ายสัญญาณความเร็วสูง รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยทางบริษัทฯ คาดการณ์ว่า ความต้องการหุ่นยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภาคส่วนสำหรับโซลูชันที่แตกต่างกันออกไป

Mr. Akira Fukabori CEO บริษัท avatarin แสดงความเห็นเสริมว่า ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ANA พบว่า ในหนึ่งปีมีประชากรเพียง 6% จากทั้งโลกเท่านั้นที่เดินทางทางอากาศ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งบริษัท avatarin เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมต่อโลกเข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ควบคุมทางไกล เพื่อเชื่อมต่อการทำงานจากต่างสถานที่เข้าด้วยกันแบบเรียลไทม์ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานชนิดใหม่ในอนาคตได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์มการควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลที่พัฒนาร่วมกันกับ Sony ในครั้งนี้ จะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานเฉกเช่นอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในปัจจุบัน และตั้งเป้าว่า การควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกล รวมถึง Avatar Robot จะไม่หยุดอยู่แค่การทำงาน แต่จะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในอนาคตต่อไป

คอนเซปต์การใช้ Avatar Robot ในสังคมอนาคต (Photo: Sony)