Batch Size 1 เทรนด์ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต 2020

อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 3,941 Reads   

Batch Size 1 คืออะไร ?? ทำไมจึงเป็นเทรนด์ธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2020 นี้ ?? ด้วยความต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้ทันตามความต้องการของตลาด ซึ่งลูกค้ามักจะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า สะท้อนออกมาเป็นข้อเสนอผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่เหนือกว่าหรือดีกว่าของผู้ที่ได้รับคำสั่งซื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งที่รวดเร็วขึ้น การสั่งซื้อสินค้าแบบ Custom Made คละรุ่นคละขนาด การสั่งผลิตสินค้าแบบเฉพาะบุคคล  เหล่านี้เป็นต้น 

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเช่นนี้ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจจึงแตกต่างไปจากเดิม  โมเดลธุรกิจ Batch Size 1 ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ทั้ง ระบบบริหารการผลิต MMS,  IIoT, Robot and Automation, QC/QA, Transportation and Logistics และอื่น ๆ เพื่อให้ธุรกิจตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด การผลิตที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องและได้คุณภาพ 100% ลดเวลาที่จะส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น ระบบซัพพลายเชนที่รองรับ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและส่งผลต่อกำไรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และแตกต่างของลูกค้าได้ในปริมาณมาก สามารถพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับลูกค้าแต่ละรายอย่างมีมาตรฐาน ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการตามความต้องการ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างต้นแบบร่วมกัน  

 

“Batch Size 1 คือ ขนาดการผลิตเท่ากับหนึ่งออเดอร์ เพื่อการผลิตออเดอร์เฉพาะของลูกค้าแต่ละรายและส่งตรงถึงลูกค้าได้ทันที”

 

Batch Size 1 พึ่งพาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ

ที่ผ่านมาระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ถูกปรับให้เหมาะกับการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ซึ่งมักเป็นสายการผลิตของโรงงานขนาดใหญ่ หากเราต้องการผลิตเพียงหนึ่งหรือสองชิ้นจะไม่สามารถทำการผลิตแบบอัตโนมัติได้เลย ดังนั้น Batch Size 1 จึงเป็นตัวเลือกสำหรับโรงงานที่ไม่มีการผลิตแบบจำนวนมาก โรงงานขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมักจะมีออเดอร์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อย ต้องการผลิตชิ้นงานที่หลากหลาย แต่ละชิ้นงานต้องการผลิตจำนวนไม่มาก รวมถึงการผลิตแบบ Customized ที่ต้องการความสามารถในการแยกผลิตเฉพาะบาง serial จาก set order ความต้องการเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มาผสานรวมกันเพื่อตอบสนองต่อโมเดลธุรกิจ Batch Size 1 ได้แก่

1. Manufacturing Management ที่ไร้รอยต่อ

แนวคิด Batch Size 1 มองภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจ และนำแต่ละส่วนงานมาวางแผนให้เกิดการทำงานโดยอัตโนมัติเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ด้วยระบบบริหารการผลิต (MMS: Manufacturing management software) เช่น ระบบ ERP ที่จะสามารถสื่อสารตรงกับเครื่องจักรในสายการผลิต หยิบส่วนประกอบต่าง ๆ ของสินค้า บริหารจัดการในขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดสายการผลิต, ประกอบ, ตรวจสอบ, จัดทำเอกสาร, และจัดส่งสินค้าได้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างสายการผลิตที่ Super Lean และ Just in Time

2. IIoT (Industrial Internet of Things)

การเปิดเผยข้อมูลทั่วถึงกันทั้งองค์กรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IIoT  การผลิตที่ยืดหยุ่นนั้นต้องการระบบอัตโนมัติที่จะรู้ได้อย่างชัดเจนว่าจะผลิตอะไร จะตรวจสอบอะไร และสามารถติดตามชิ้นงานที่ผลิตได้ตลอดกระบวนการทั้งหมดนี้  ดังนั้น การเชื่อมต่อถึงกันไม่เพียงแต่ระบบอัตโนมัติ แต่ยังรวมถึงระบบบริหารจัดการขององค์กร จากคำสั่งซื้อของลูกค้า การจัดการวัสดุ การผลิต การตรวจสอบ ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าอีกด้วย  IIoT สร้างข้อได้เปรียบในการลดข้อผิดพลาดเพราะระบบจะส่งข้อมูลโดยอัตโนมัติ เมื่อเทียบกับการเขียนหรือพิมพ์ ไม่มีโอกาสเขียนตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง หรือจากนิ้วอ้วนที่กดลงบนแป้นพิมพ์ จึงทำให้กระบวนการดำเนินงานมีเสถียรภาพมาก นำมาซึ่งคุณภาพที่สูงขึ้น ข้อผิดพลาดที่น้อยกว่า ปริมาณงานที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตัวเลข OEE: Overall Equipment Effectiveness ย่อมดีขึ้นด้วย

3. Robot and Automation

กระบวนการผลิตต่าง ๆ ในโรงงานแม้ว่าจะทำงานแบบอัตโนมัติกันบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่ทั้งสายการผลิต คนงานและรถยกโฟลค์ลิฟท์ยังต้องขนย้ายวัตถุดิบไปที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักร นำวัสดุออกจากเครื่อง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องทำงานอย่างถูกต้อง แล้วนำชิ้นงานบางส่วนไปเข้าขั้นตอนการผลิตถัดไป การเปลี่ยนแปลงตารางงานยังจำเป็นต้องใช้คนในการปรับเปลี่ยน ซึ่งจะเห็นว่าการทำงานจะแยกเป็นส่วนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิต ทั้งการเขียนโปรแกรมสั่งการโรบอทนั้นยังใช้เวลาพอสมควร บางระบบอาจใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในการเขียนโปรแกรม ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการใช้โรบอทในหลายกระบวนการก็จะใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสูญเสียเวลาอย่างมาก

การออกแบบระบบอัตโนมัติที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง สามารถต่อขยายและรองรับการรวมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ จะเป็นแนวคิดหลัก ตัวอย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่แทนสายพานลำเลียงแบบตายตัว ซึ่งช่วยให้มีความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงานและการจัดการวัสดุ

พาเลทสินค้าแบบอัตโนมัติ (Palletizing Automation) ช่วยให้สามารถทำการผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมงแม้กระทั่งตอนปิดไฟ (Lights out production) ด้วยระบบเปลี่ยนพาเลทอัตโนมัติ เมื่อระบบการผลิตส่วน A เสร็จสิ้น มันสามารถทำการผลิตส่วน B ทันที ทำให้เครื่องจักรทำงานอยู่เสมอ MMS จะประมวลผล ควบคุม และตรวจสอบการผลิตจากทุกที่ในโลก ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย ทำให้สามารถใช้พื้นที่ในสายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


 

4. QC/QA

สายการผลิตที่รองรับออเดอร์ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อยนั้น จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบและติดตาม (Inspection and Tracking Systems) ขั้นสูงที่มีความยืดหยุ่นและบูรณาการ ระบบการมองเห็น (Vision Systems) ขั้นสูงที่สามารถปรับการตรวจสอบตามชิ้นส่วนเฉพาะชิ้นที่กำลังผลิต การจัดลำดับหมายเลข (Serialization) และการติดตาม (Tracking) เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการติดตามคุณภาพ 

ห้องตรวจวัดเสมือนจริง (VMR: Virtual Measuring Room) ผสานการทำงานกับ ScanBox 3D ทำให้โรงงานผลิตทำการวัดและตรวจสอบชิ้นส่วนในรายละเอียดที่มากกว่าเทคโนโลยีเดิมเครื่องวัดพิกัด CMM ที่ใช้งานอยู่นั้น อาจวัดได้เพียง 300 จุดที่ประตูรถยนต์ ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่นี้มีความสามารถในการวัด 100% ของแต่ละส่วนด้วยเวลาอันรวดเร็ว ทำให้การควบคุมคุณภาพดีขึ้นอย่างมากเพราะความสามารถในการตรวจวัด

5. Transportation and Logistics

เทคโนโลยีการติดตามการขนส่ง จะเข้ามาช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและเครื่องมือต่าง ๆ เป็นไปโดยอัตโนมัติตลอดสายการผลิต ไม่เพียงแต่คำสั่งซื้อสินค้า แต่ยังเชื่อมต่อข้ามไปยังซัพพลายเชนที่อยู่ระหว่างทางทั้งหมด จนนำส่งสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการติดตามขั้นสูง ยังสามารถทำให้มีสินค้ายกแพ็คที่หลากหลายได้ เช่น ในหนึ่งแพ็คของน้ำผลไม้ขวดสามารถประกอบไปด้วยหลายรสชาติและหลายขนาดได้ เพื่อส่งไปยังบริษัทอีคอมเมิร์ซหรือแม้แต่ส่งตรงให้กับผู้บริโภค ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงนี้จะทำให้มีตลาดเซ็กเมนต์ใหม่ที่ผู้คนสามารถสั่งสินค้าที่ตนเองต้องการได้อย่างแท้จริง หรือแม้กระทั่งการพิมพ์ชื่อคนลงบนสินค้าหรือฉลาก เช่น ในกลุ่มร้านขายยาโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ทานยาหลายครั้งต่อวัน ยาเม็ดในแต่ละวันสามารถบรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยมีหมายเลขใบสั่งและคำแนะนำเฉพาะสำหรับแต่ละเม็ดได้ ซึ่งจะสามารถกำจัดหรือลดความผิดพลาดของคนได้

การให้บริการคลังสินค้ารูปแบบใหม่ตอบโจทย์ความต้องการที่เร่งรีบ คลังสินค้าจะเชื่อมต่อกับระบบการผลิตและโลจิสติกส์ ขยายบริการที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเลื่อนการจัดส่งตามความต้องการของลูกค้า เทคโนโลยีอัตโนมัติต่าง ๆ ที่ใช้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน รวมถึงการมีเครือข่ายให้บริการที่ครอบคลุม

แนวคิด Batch Size 1 จะทำให้การจัดส่งแบบมีจำนวนเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหรือบ่อยขึ้น เส้นทางในการจัดส่งที่สั้นลงจากการกระจายศูนย์เข้าไปใกล้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น การใช้บริการโลจิสติกแบบออนดีมานด์ และโซลูชันหุ่นยนต์จัดส่งสินค้าที่ออกแบบมาสำหรับการขนส่งสินค้าขนาดเล็กน้ำหนักน้อย

Amazon scout - Delivery robot 

จีนต่อยอดแนวคิด Batch Size 1

ผู้ผลิตในประเทศจีนได้นำแนวคิด Batch Size 1 ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ ย้ายโรงงานเข้าไปใกล้ลูกค้ามากขึ้น โรงงานขนาดเล็ก ๆ ถูกตั้งขึ้นในบริเวณใกล้ตัวเมือง หรืออยู่ในเมืองใหญ่ มีกำลังการผลิตตามความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้น ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการสินค้าเฉพาะบุคคลอย่างมาก และยังสามารถส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วกว่าเดิม  

โรงงานผลิตขนาดเล็กเหล่านี้บริหารจัดการด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด เชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่คำสั่งซื้อที่เข้ามา สู่กระบวนการผลิต ไปจนถึงส่งมอบสินค้า ใช้หุ่นยนต์ที่ล้ำสมัย, Automation, และเทคโนโลยี 4D/3D printing เพื่อที่จะผลิตสินค้าเฉพาะบุคคลได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น Adidas Speedfactory

Photo: adidas-group.com

ตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา Adidas นำเทคโนโลยี Speedfactory มาใช้ส่งเสริมนวัตกรรมและความสามารถในการผลิต ด้วยระยะเวลาการพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดย Speedfactory จะผลิตรองเท้ากีฬาที่โรงงานของซัพพลายเออร์สองรายในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตดีขึ้น ระยะเวลาการผลิตสั้นลง แต่ยังคงความโดดเด่นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น และใช้ประโยชน์จากการบูรณาการความสามารถทางเทคนิคจากซัพพลายเออร์และวิธีการผลิตใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดย Adidas ที่จะช่วยให้รูปแบบรองเท้า Speedfactory ในอนาคตมีความหลากหลายมากขึ้น 

ด้วยแนวคิด Batch Size 1 ผู้ผลิตจะสามารถตอบสนองได้ทันทีต่อกระแสความต้องการเฉพาะพื้นที่ได้อย่างอิสระ และส่งมอบสินค้าในกรอบเวลาอันสั้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรก (First Mover)  ในขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เองจะต้องออกแบบกระบวนการต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่นและเป็นระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ผลิต ปรับเปลี่ยนการทำงานในคลังสินค้า และนำแนวคิดใหม่ ๆ ในการส่งมอบสินค้าที่มีความคล่องตัวสูงมาช่วยในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด