อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, Smart Electronics, แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Electronics, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย

ส่องแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย (ระยะที่ 1 : พ.ศ. 2566-2570)

อัปเดตล่าสุด 18 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 5,341 Reads   

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) โดยได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรับทราบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน รวมถึงมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม ภายในปี 2570

ภายใต้แผนปฏิบัติการประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (2) กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health, Smart Farm และรถ EV และ (3) สร้างและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

สอดคล้องไปกับการการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติไทย คือ การนำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มีการเปลี่ยนผ่านจากโมเดลประเทศไทย 3.0 ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เน้น การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นประเทศที่พัฒนาด้วยการนำหลักตามปรัชญาแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย (1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ในระยะ 20 ปีข้างหน้า ตามกรอบการพัฒนาประเทศไทย 4.0 โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อ “มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก” ซึ่งตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยับสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2579 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติโดยจะเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรม

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย

อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, Smart Electronics, แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Electronics, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย

นิยามของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดิม โดยอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) คือ “อุปกรณ์” อิเล็กทรอนิกส์หรือ “เครื่องมือ” ที่มีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง (๑) สามารถตรวจจับและรับข้อมูลได้เป็นองค์ประกอบหลัก (๒) สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือเครื่องมือ หรือโครงข่ายผ่านระบบไร้สาย และ (๓) มีระบบปฏิบัติการหรือประมวลผลฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์หรือเครื่องมือนั้น ๆ

(๑) อ้างอิงจากการศึกษาวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยมายาวนานกว่า 50 ปีและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นลำดับที่ 13 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยพึ่งพาผลิตภัณฑ์หลักไม่กี่ชนิด เช่น HDD, PCB, IC และ Semiconductor ซึ่งมีอัตราเติบโตคงที่และมีแนวโน้มชะลอตัวลง และลักษณะของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบ (Original Equipment Manufacturer: OEM) โดยขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตนเอง

นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่มีการลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงกลุ่มใหม่ ๆ ในประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างคงที่ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปี

1) การส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ในปี 2564 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออกของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดยมีสินค้าส่งออกหลัก 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ส่วนประกอบและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 2) วงจรรวม 3) ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ 4) เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ และ 5) เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้า และตลาดหลักในการส่งออก 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา 2) ฮ่องกง 3) จีน 4) ญี่ปุ่น และ 5) มาเลเซีย

ทั้งนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีการส่งออกเป็นลำดับที่ 14 ของโลก และเป็นลำดับที่ 4 ของอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 82 ล้านล้านบาท

2) การลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ในปี 2563 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.64 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออกของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและสัดส่วนการวิจัยพัฒนาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมากขึ้น

ทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ในอนาคตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะมีบทบาทส าคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตภาคการเกษตร และภาคบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคตมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตแบบเดิมที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้นไปสู่การผลิตที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้าง Supply Chain ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูงให้เกิดขึ้นในประเทศ มุ่งสู่การผลิตสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยานยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรม S-curve ต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของโลกปี พ.ศ. 2565-2569 มีมูลค่าสูงประมาณ 80 ล้านล้านบาท

โดยสามารถจำแนกตลาดของระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะออกได้ตามพื้นที่การใช้ประโยชน์จากระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งประกอบด้วย ๖ ประเภท ได้แก่ Smart Home, Smart Factory, Smart Office, Smart Hospital & Health, Smart Farm และ Smart City & Community ทั้งนี้ สามารถจัดกลุ่ม 1-4 แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) ประเภทที่มีความสำคัญ 4 อันดับแรก ได้แก่ 1) Smart Home 2) Smart Factory 3) Smart Hospital & Health และ 4) Smart Farm

แนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570” โดยมีเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health และ Smart Farm วัตถุประสงค์

1. ยกระดับ Supply Chain ทั้งระบบสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

2. สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรทางด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

3. สร้างและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบนิเวศ (Eco-system) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

4. จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยกระดับศูนย์ปฏิบัติการและศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

5. พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

6. วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

เป้าหมายระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570): ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้

1. มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายในปี 2570
2. มูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม ภายในปี 2570

มาตรการและแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ดังนี้

มาตรการที่ 1 : ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีแนวทางการพัฒนา

1.1 ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น Wafer Fabrication, Micro Electronics, Power Electronics และ Communication Electronics

1.2 ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีฐานการผลิต เช่น IC Packaging ไปสู่ IC Design และ PCB ไปสู่ High Density PCB, Flexible PCB และ Multi Layer PCB เป็นต้น

1.3 สร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics

1.4 สร้างและยกระดับบุคลากรให้เป็น Smart Developer (SD)

มาตรการที่ 2 : กระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

2.1 สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ดำเนินการ

2.2 กระตุ้นอุปสงค์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภาคเอกชนและภาครัฐ ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็น Smart Home & Smart Appliance, Smart Factory, Smart Hospital & Health และ Smart Farm ในอนาคต

มาตรการที่ 3 : สร้างและพัฒนา Eco System สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

3.1 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Eco-system ให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น IoT Platform, Cloud System, Data Center, Data Security, 5G และ Connectivity Technology เป็นต้น

3.2 จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) เช่น ด้าน IC/Circuit/PCB Design และ Micro/Nanotechnology Design เป็นต้น

3.3 ยกระดับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีมาตรฐาน และการทดสอบด้าน Smart Electronics

3.4 ส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, Smart Electronics, แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Electronics, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : คลิก

 

ที่มา: แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH