ส่องเทรนด์ “แบงก์ญี่ปุ่น” ปรับตัว สังคมเงินสด VS สังคมสูงวัย

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2561
  • Share :

ขณะที่โลกกำลังจับจ้องและให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมการเงินของ “จีน” ที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “อาลีบาบา” และ “เทนเซ็นต์” ก้าวเข้ามาเขย่าอุตสาหกรรมการเงินจีน และกลายเป็นผู้เล่นหลักด้วยอาศัยเทคโนโลยีที่พลิกโฉมธุรกรรมการเงินในประเทศจีนแบบพลิกฝ่ามือ

และทำให้แดนมังกรกลายเป็นประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับ “ญี่ปุ่น” หนึ่งในประเทศผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก

แต่จากพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นค่อนข้างระมัดระวังด้านการเงิน ประกอบกับเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ โดยประชากรกว่า 27.3% มีอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ยังคงได้ชื่อว่า “สังคมเงินสด”

3 ยักษ์ใหญ่ยุบ-ลดขนาด

แม้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นยังนิยมการใช้เงินสด แต่ยักษ์สถาบันการเงินของประเทศก็เผชิญความท้าทายจากเทรนด์ของ “โมบายแบงกิ้ง” ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ต่างจากของประเทศอื่น ๆ บนแผนที่โลก

แต่ขณะเดียวกัน “ภาวะสังคมสูงวัย” ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นขาดกำลังบริโภคจับจ่าย หรือการหมุนเวียนเงินตราภายในประเทศทำให้กระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร ทำให้ภาพอุตสาหกรรมการเงินของแดนอาทิตย์อุทัยมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ แต่ก็นำมาสู่โจทย์เดียวกันคือ ธนาคารต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมทั้งขนาดตลาดที่ลดลง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2055 ญี่ปุ่นจะมีประชากรน้อยกว่า 100 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 127 ล้านคน

จึงนำมาซึ่งปรากฏการณ์ของการ “ลดขนาด” สถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่น ทั้งภาพการ “ปิดสาขา” และ “ลดพนักงาน” โดยเฉพาะพนักงานประจำสาขาที่มีจำนวนมากเกินความจำเป็น