จับตาภาคเอกชนญี่ปุ่น มุมมองต่อสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้า ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 715 Reads   

มุมมองของภาคเอกชนญี่ปุ่นต่อการที่รัฐบาลญี่ปุ่นถอดเกาหลีใต้ออกจากบัญชี White List จนถึงปัจจุบัน ไม่มีบริษัทเอกชนใดในเครือของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นที่แสดงความห่วงกังวลต่อเรื่องนี้ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่สมาพันธ์ฯ ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับรัฐบาลญี่ปุ่น  ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ไม่ได้สนับสนุนหรือขัดข้องต่อการดำเนินการของรัฐบาลญี่ปุ่นในการถอดเกาหลีใต้ออกจากบัญชี White List เนื่องจาก (1) มาตรการ export control เป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจไม่ใช่ประเด็นการเมือง (2) ยังไม่มีภาคธุรกิจญี่ปุ่นแจ้งว่าประสบปัญหาในการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ สืบเนื่องจากมาตรการนี้ (3) มาตรการดังกล่าวไม่ขัดกับ WTO กล่าวคือ เป็นไปตามข้อบทที่ 21 ของ GATT ว่าด้วยเรื่อง Secuity Exceptions (4) สมาพันธ์ฯ กับ Federation of Korean Industries (FKI) ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก โดยมีกำหนดจะประชุมร่วมกันในเดือนพฤศจิกายน 2562

การค้าส่วนใหญ่ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นสินค้าประเภทสารเคมีและอุปกรณ์กึ่งตัวนำ(semiconductor) ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ไม่ทราบเหตุผลและข้อมูลเชิงลึกที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ประกอบการตัดสินใจการออกมาตรการ export control เพราะเป็นข้อมูลที่มีขั้นความลับสูงมาก โดยทราบแต่เพียงว่า อยู่บนพื้นฐานของปัจจัยด้านความมั่นคง ต่อคำถามเรื่องความเห็นและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนภายหลังจากที่รัฐมนตรี MEIT ได้แถลงข่าวเมื่อ 8 สิงหาคม 2562 เรื่องการอนุญาตการส่งออก photoresists ไปยังเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นถอดเกาหลีใต้ออกจากบัญชี white list นั้น สมาพันธ์ฯ มิได้รู้สึกโล่งใจเป็นพิเศษ เพราะไม่รู้สึกกังวลอยู่แล้วตั้งแต่แรก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้ห้ามการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ แต่เกี่ยวกับกระบวนการควบคุม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทางการญี่ปุ่นดำเนินการอยู่แล้ว และจนถึงปัจจุบันเอกชนญี่ปุ่นที่เป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบประเภท semiconductor ที่สำคัญ อาทิ บ. Showa Denko ก็ยังมิได้ร้องเรียนหรือแสดงความกังวลใด ๆ ต่อกระแสข่าวว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะปรับลดโควตาการนำเข้าสินค้าจากจังหวัดฟูกูชิมะ และกระแสการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นนั้น สมาพันธ์ฯ แจ้งว่า การดำเนินการเช่นนี้ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ EU ได้ยกเลิกและผ่อนปรน import restrictions ให้กับสินค้าจากจังหวัดฟูกูชิมะแล้วตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน สำหรับกระแสการคว่ำบาตรสินค้านั้น สมาพันธ์ฯ เห็นว่า สินค้าอุปโภคบริโภคจะตกเป็นเป้าได้ง่าย แต่น่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ผลทางด้านจิตวิทยาของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า เพราะจะเป็นผลกระทบในระยะยาว ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นในตัวเลขการท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ต่อคำถามว่า บ. Nippon Steet ของญี่ปุ่นที่ถูกศาลฎีกาเกาหลีใต้ตัดสินให้ชำระเงินชดเชยแก่แรงงานเกาหลีใต้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้หารือกับสมาพันธ์ฯ เกี่ยวกับแนวทางในการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร สมาพันธ์ฯ ตอบว่า เรื่องดังกล่าวได้ข้อสรุปแล้วสมบูรณ์และเป็นที่สิ้นสุดแล้วโดยสนธิสัญญาทวิภาคี ญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ ปี ค.ศ. 1965 สมาพันธ์ฯ จึงไม่เห็นเหตุผลที่บริษัทนี้ต้องชำระค่าเสียหาย อย่างไรก็ดี หากในอนาคต เกาหลีใต้ ดำเนินการยึดทรัพย์สินของบริษัทนี้ ก็เป็นประเด็นระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่ต้องหารือกัน

ผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการลดค่าเงินหยวน สมาพันธ์ฯ เห็นว่า สงครามการค้าส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงซึ่งภาคเอกชนญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักของ WTO โดยสมาพันธ์ฯ เห็นว่า สงครามการค้าส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลง ซึ่งภาคเอกชนญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักของ WTO โดยสมาพันธ์มองว่า การที่สหรัฐฯ เพิ่มกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน ไม่เกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงตามที่สหรัฐฯ อ้าง ซึ่งสมาพันธ์ได้หารือเรื่องนี้กับสภาหอการค้าของสหรัฐฯ และได้ออก joint policy paper  ในเรื่องดังกล่าวด้วย ในขณะที่การลดค่าเงินหยวนเป็นอุปสรรคมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะยาว โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนคือ การส่งออกยานยนต์และอะไหล่ของญี่ปุ่นไปจีน

ข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อ 8 สิงหาคม 2562 อัครราชทูตได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ และได้สอบถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อบริษัทจากมาตรการ export control ดังกล่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทเห็นว่า ผลกระทบมีไม่มากเพราะขนาดของ market share ของโตโยต้าในตลาดเกาหลีใต้มีเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่า

ข้อคิดเห็นของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว หากเปรียบเทียบกับภาคเอกชนเกาหลีใต้แล้ว ภาคเอกชนญี่ปุ่นดูจะมีความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้านี้น้อยกว่ามาก แม้แต่กระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีใต้เอง เอกชนญี่ปุ่นยังมองเป็นปัญหาระยะสั้น นอกจากนี้ ตามที่สื่อญี่ปุ่นนำเสนอข่าวว่า บริษัท Sumsung หันไปนำเข้าสารเคมีจากบริษัทในเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับเอกชนญี่ปุ่นนั้น มีกระแสข่าวว่าญี่ปุ่นนำเสนอข่าวว่า เป็นความพยายามของญี่ปุ่นเองที่จะช่วยให้การส่งออกสารเคมีดังกล่าวไปยังบริษัท Samsung ดำเนินต่อไปได้ โดยผ่านประเทศที่สาม

นอกจากภาคเอกชนแล้ว การให้น้ำหนักต่อเรื่องนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น และกระแสต่อต้านของประชาชนญี่ปุ่นต่อเกาหลีใต้ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับเกาหลีใต้ ดังสะท้อนให้เห็นจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่น พยายามไม่ตอบสนองทางวาทกรรมในประเด็นด้านประวัติศาสตร์กับเกาหลีใต้ แต่ย้ำท่าทีเดิมคือการยึดมั่นต่อสนธิสัญญาทวิภาคีปี ค.ศ. 1965 โดยสาเหตุน่าจะเป็นเพราะ หากญี่ปุ่นยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานเกาหลีใต้ อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียจำนวนไม่น้อยที่เคยถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินรอบตามเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามรถยอมให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจพบว่าในส่วนของภาคประชาชน กลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่นมีความนิยมชื่อชอบศิลปินเกาหลี แฟชั่น และเครื่องสำอางเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น เพราะแสดงถึงความทันสมัย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีรายงานว่ารัฐบาลเกาหลีใต้อาจประกาศยกเลิกความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น (GSOMIA) ซึ่งปกติต้องต่ออายุทุกปี รายงานดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต่างแสดงความกังวล โดยปัจจุบันเกาหลีใต้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของดาวเทียม เรดาร์ เครื่องบินลาดตะเวนและเทคโนโลยีขั้นสูงของญี่ปุ่นในการติดตามและวิเคราะห์การทดลองขีปนาวุธและเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเกาหลีใต้โดยเฉพาะจากสายลับและ defectors เกาหลีเหนือเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้ตอบสนองต่อปฏิบัติการของจีนและรัสเซียยากขึ้นด้วย โดยคำนึงว่า จีนและรัสเซียได้มี joint bomber patrol ในน่านน้ำของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อพัฒนาการเรื่องนี้ ในวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งจะเป็น deadline ในการยกเลิกความตกลงดังกล่าว
ในระยะแรก พบว่า อุตสาหกรรมที่เห็นผลกระทบชัดเจนที่สุดคือ ภาคการท่องเที่ยว (ร้อยละ 25 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นเป็นชาวเกาหลีใต้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่อเที่ยวในภูมิภาคคิวชูที่ลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ค่อย ๆ ชะลอตัว

ดังนั้นในระยะสั้น ไทยควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้โดยนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวทดแทน ส่วนในระยะยาว ไทยน่าจะเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตสินค้าและอุปกรณ์บางประเภทที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยไทยอาจใช้ความรู้และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเพื่อผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวทดแทนการผลิตในเกาหลีใต้


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com