“สงครามการค้า” ฉุดส่งออกทรุด กดเศรษฐกิจ

อัปเดตล่าสุด 24 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 333 Reads   

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมเมื่อ 20 มี.ค. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% พร้อมปรับลดประมาณการอัตราการเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 3.8% จากเดิมที่ 4% โดยเครื่องยนต์หลักที่อ่วม ก็คือ “การส่งออก” ที่ได้รับผลกระทบหนักขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ จึงปรับลดคาดการณ์ “การส่งออก” โตเพียง 3.0% จากเดิมที่ 3.8% อย่างไรก็ตาม ในปี’63 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตขึ้นที่ 3.9% และการส่งออกอยู่ที่ 4.1%

“เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองว่า ไตรมาสแรกปีนี้ มีโอกาสที่การส่งออกจะ “ติดลบ” และโมเมนตัมในระยะต่อไปไม่ดีนัก จากปัจจัย “การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก” สะท้อนจากเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่มีทิศทางชะลอตัวลง ซึ่งล่าสุดเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ยตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัว และฐานปีก่อนที่ส่งออกโตสูงด้วย

ขณะที่ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐและจีน ที่ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ยังคงไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้จีนที่เจอกำแพงภาษี ต้อง “ลด” การนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจากไทยลง กดดัน “การส่งออก” ของไทยชะลอตัวลงอีก อย่างไรก็ตาม คงต้องลุ้นให้มีการประชุมของผู้นำทั้งสหรัฐและจีนต่อไป

“ขณะนี้ศูนย์วิจัยฯ กำลังติดตามดูตัวเลขการส่งออกของเดือน ก.พ. 62 และทิศทางหลังผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ว่าเป็นอย่างไร จึงจะพิจารณาว่าจะมีการปรับประมาณการใหม่หรือไม่”

ฟาก “ตรรก บุนนาค” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า โมเมนตัมการส่งออกของไทยครึ่งปีแรก น่าจะเห็นตัวเลข “ติดลบ” เนื่องจากปัจจัยหลักอย่าง “สงครามการค้า” ที่กระทบการค้าขายของหลายประเทศที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย อาทิ สหรัฐ ยุโรป หรือเอเชีย ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัว ประกอบกับช่วงต้นปีที่แล้วส่งออกโตสูงด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง “อัตราแลกเปลี่ยน” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ค่าเงินบาท” ยังอยู่ระดับ “แข็งค่า” ซึ่งจะกระทบต่อ “มูลค่า” การส่งออกของไทยลดลงด้วย

“มองไประยะข้างหน้า ยังคงไม่มีความแน่นอนเรื่องสงครามการค้า ที่ปัจจุบันยังมีความตึงเครียดกันอยู่ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่อง short-term แต่เป็น long-term ส่วนจะหวังให้การส่งออกกลับมาเป็นบวกนั้น อาจต้องดูเป็นรายของประเภทสินค้าต่อไป”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังเป็นช่วงที่ตลาดกำลังปรับตัวเพื่อจะหาทางทำการค้าขายให้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การหาคู่ค้าใหม่ที่สงครามการค้ากระทบน้อย เป็นต้น

นับวัน “สงครามการค้า” จะออกฤทธิ์ต่อการส่งออกทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงภาคส่งออกในการหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไทย ซึ่งยัง 3 วันดี 4 วันไข้ เพราะเดือน ม.ค. 62 ส่งออกติดลบ 5.65% มาเดือน ก.พ. โต 5.9% สูงสุดรอบ 4 เดือน แต่เป็นเพราะมีการส่งออกอาวุธ ซึ่งหากไม่รวมปัจจัยพิเศษจะพบว่า ส่งออกไทยติดลบ 3.4%

คงต้องติดตามต่อไปว่าการส่งออกจะ “ฟื้นตัว” กลับมาได้หรือไม่