ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 51.2

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน ส.ค.63 ปรับลดลง กำลังซื้อแผ่ว

อัปเดตล่าสุด 6 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 627 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 51.2 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ผลจากกำลังซื้อที่เริ่มลดลงและมีสัญญาณการแผ่วตัวลงของกำลังซื้อในอนาคต  อย่างไรก็ตาม ค่าระดับดัชนียังสูงกว่าค่าฐานที่แสดงถึงภาพรวมธุรกิจ SME ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือนสิงหาคม 2563 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ระดับ 51.6 มาอยู่ที่ระดับ 51.2 โดยถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วงผ่อนปรนมาตรการของรัฐ สะท้อนสัญญาณการเริ่มชะลอตัวทางธุรกิจที่เป็นผลจากการลดลงของกำลังซื้อเป็นสำคัญ เนื่องจากประชาชนใช้เงินเยียวยาเพื่อจับจ่ายใช้สอยไปแล้วในช่วงที่ผ่านมาและ    ภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะการจ้างงาน ทำให้เกิดความเปราะบางของการจ้างงานในหลายธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายที่ลดลงของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น เพื่อเก็บเงินสำหรับการบริโภคในอนาคตเพราะความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้สาเหตุของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและการบริการ กำไร และการจ้างงาน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.5 55.4 53.0 และ 48.2 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านต้นทุน และการลงทุนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.0 และ 50.9 ตามลำดับ

โดยภาคการผลิต มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.3 ส่วนภาคการค้าและภาคการบริการ ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 51.2 ตามลำดับ การปรับตัวลดลงมาจากการระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น อาทิ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ไม้และเฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง บริการรถเหมาเพื่อท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME แต่ละภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน โดยภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 48.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.0 จากการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มบริการที่หลายสถานประกอบการกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ โดยเฉพาะกิจกรรมทางด้านสันทนาการบันเทิงต่าง ๆ และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 53.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 51.8 เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการจัดงานมหกรรมและงานแสดงสินค้าของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของชาวสวนยางที่ได้รับอานิสงส์จากราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางธุรกิจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากขาดรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 53.5 ลดลงเล็กน้อยจาก 53.6 โดยภาคการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทางเกษตร การค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) และการค้าปลีกแบบดั้งเดิม ส่วนภาคการบริการภาพรวมมีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสาขาการขนส่งสินค้า 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.8 ลดลงจาก 51.2 จากการชะลอตัวของกำลังซื้อและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบในพื้นที่ ประกอบกับสาขาการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 50.8 ลดลงจาก 54.1 จากการชะลอตัวของการจองและการใช้บริการของกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารและบริการด้านสุขภาพ/เสริมความงาม เพราะกำลังซื้อลดลง และยังเป็นช่วงหน้ามรสุมและไม่มีวันหยุดติดต่อเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของพื้นที่ 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.6 ลดลงจาก 53.1 เพราะอุปสงค์ในพื้นที่หดตัวลงโดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่ลดลงและการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อีกทั้งการจ้างงานค่อนข้างมีความเปราะบาง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 56.3 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 59.3 แนวโน้มความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ลดลงจากความกังวลเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และความเปราะบางของการจ้างงานในอนาคตที่จะส่งผลต่อรายได้ของประชาชน นอกจากนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของการท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน 2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค 3. มาตรการในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล 4. การแข่งขันในตลาด 5. ราคาต้นทุนสินค้า/ค่าแรงงาน (ที่เพิ่มสูงขึ้น)