115-แบงก์ชาติ-เศรษฐกิจ-ค่าเงินบาท-กฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

รื้อกฎหมายปลดล็อกค่าเงิน ยกเครื่องแบงก์ชาติรับ”โลกเปลี่ยน”

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 612 Reads   

แบงก์ชาติประกาศยุทธศาสตร์ 3 ปี “แปลงร่าง” รับมือ 7 ความท้าทาย “โลกเปลี่ยน” ความผันผวนรุนแรงเพิ่มทุกด้าน เดินหน้ายกเครื่อง พ.ร.บ.ควบคุมแลกเปลี่ยนเงินยุคสงครามโลก ปรับสมดุลทุนสำรองระหว่างประเทศ ลดแรงกดดัน “ค่าเงินบาท” ยอมรับบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ เครื่องมือนโยบายการเงินการคลังมีข้อจำกัด
 
ธปท. “แปลงร่าง” รับโลกเปลี่ยน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี 2563-2565) ของ ธปท.ว่า ขณะนี้เราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และ 3 ปีต่อจากนี้มีแนวโน้มที่โลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ธปท.จึงจำเป็นต้อง “แปลงร่าง” หรือ “แปลงกาย” (transform) ให้เท่าทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ที่จะเข้ามากระทบต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในต่างประเทศจะมีส่วนเข้ามากระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างมาก นอกจากนี้พัฒนาการของการเมืองที่เน้นหรือหวังผลระยะสั้น ทำให้เกิดนโยบายประชานิยมมีเพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่การรักษาเสถียรภาพของธนาคารกลางจะต้องมองไกลและมองระยะยาว

“เรากำลังอยู่ในโลกของ “VUCA” ซึ่งย่อมาจากความผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) และความคลุมเครือไม่ชัดเจน (ambiguity) ที่สูง แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นโลกของ “VUCA+” ซึ่งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือไม่ชัดเจนเหล่านี้จะมีมากขึ้นกว่าเดิม”

7 ความท้าทายของแบงก์ชาติ

นายวิรไทกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 3 ปีข้างหน้าของ ธปท.จึงให้ความสำคัญกับประเด็น “ความท้าทาย” ที่องค์กรต้องเผชิญ ซึ่งความท้าทายแต่ละด้านประกอบด้วยหลายมิติที่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นทุกฝ่ายงานจะต้องนำความท้าทายเป็นตัวตั้งและทำงานตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านั้น ธปท.มีความท้าทายที่สำคัญอยู่ 7 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ธปท.มีเป้าหมายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางทางการเงินของไทย ที่มั่นคงปลอดภัยและได้มาตรฐานสากลแบบเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่เป็นโครงสร้างพื้นฐานส่งข้อมูลทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอดไปสู่การนำส่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วย

2.กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ ผลจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ทำให้เงินไหลออกจากธนาคาพาณิชย์ไปอยู่ในหุ้นกู้ ตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ ทำให้ภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ เรื่อย ดังนั้นความเสี่ยงระบบการเงินในอนาคตจะมาจากนอกระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ธปท.ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลการเงินนอกระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ให้บริการทางการเงินใหม่ ๆ จากบริษัทเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ก็จะเป็นผู้เล่นรายสำคัญในโลกการเงินดิจิทัล ซึ่งจะต้องมีวิธีการกำกับดูแลที่เท่าทัน

3.นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยเชิงโครงสร้าง ปัจจุบันปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจเรื่อง “เงินเฟ้อ” อาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงรุนแรงมากเหมือนเดิม แต่ปัญหาเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น

4.อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้นและภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี

5.ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องมีกลไกที่ป้องกันไม่ให้บริการสะดุดลง รวมถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลในเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมระบบจัดการข้อมูลลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่สูงขึ้น

6.การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่ง ธปท.ได้สื่อสารกับธนาคารพาณิชย์ ว่าเรื่องของ”หนี้ครัวเรือน” ก็เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความยั่งยืน ความเปราะบางและฐานะการเงินของครัวเรือนจะเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคต

และ 7.การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น

ดอกเบี้ยไทยต่ำสุดในภูมิภาค

ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า ความท้าทายจากเรื่องนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังของไทยมีขีดจำกัดมากขึ้น เนื่องจากวันนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% หรือต่ำสุดในภูมิภาค ยกเว้นเกาหลีและญี่ปุ่น ส่งผลให้ปัจจุบันเราไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงไปได้แรงมาก ซึ่งดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2551-2552 ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ประมาณ 3% เพื่อเป็นยาแรงอัดฉีดเศรษฐกิจ ซึ่งดอกเบี้ย 1.25% ในปัจจุบันไม่สามารถใช้เป็นยาแรงแบบเดิมได้แล้ว เนื่องจากไม่สามารถปรับลดลงไปได้มากกว่านี้ และไม่คิดว่าประเทศไทยควรจะมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบ เพราะจะสร้างปัญหาด้านเสถียรภาพตามมาในอนาคต

“ค่าเงิน” ผันผวนรุนแรง

นายวิรไทอธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีความผันผวนสูงขึ้นแน่นอน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าค่าเงินบาทจะไปในทิศทางไหน เพราะมีโอกาสไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และไม่สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจหรือปัจจัยพื้นฐานของสภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะกลับทิศได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือสภาพคล่องของระบบการเงินโลก

“เพราะฉะนั้นภาคเอกชนควรจะต้องมีความทนทานกับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ขณะที่บางประเทศที่เป็นประเทศเกิดใหม่เหมือนกับประเทศไทย ธนาคารกลางไม่แทรกแซงค่าเงินเลย แต่ภาคเอกชนยังสามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ซึ่งสิ่งสำคัญคืออีโคซิสเต็มของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนต้องทำให้ดีขึ้นตอบโจทย์คนที่หลากหลายมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีโปรดักต์และผู้เล่นใหม่ ๆ มากขึ้นที่จะมาช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนช่วยทำให้ต้นทุนถูกลง”

ยกเครื่อง กม.ปลดล็อก “ค่าเงิน”

นายวิรไทกล่าวว่า ขณะที่ในการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศต้องมีความสมดุลมากขึ้น เช่นที่ล่าสุด ธปท.ได้ออกมาตรการเปิดเสรีให้คนไทยนำเงินตราต่างประเทศออกไปต่างประเทศมากขึ้นจากเดิมที่ทุนสำรองระหว่างประเทศต้องอยู่ที่ “ธนาคารกลาง” ใครทำธุรกิจค้าขายได้เงินมาจากทั่วโลกก็ต้องนำมาแลกเป็นเงินบาทไว้ในประเทศ และเงินดอลลาร์ก็มาอยู่ในทุนสำรองของ ธปท. แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องเป็นแบบนี้ เพราะประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ คนไทยค้าขายได้จะนำเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ที่ไหนในโลกก็เป็นทุนสำรองของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่า คนไทยไม่ควรลงทุน หรือเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทยก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ถ้ามีโอกาสก็ต้องกระจายการลงทุน

ดังนั้นในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของ ธปท.จึงมีแผนทบทวน พ.ร.บ.ควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ซึ่งใช้มาราว 78 ปี เขียนมาในยุคที่เราไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ ต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงเพื่อให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจยุคใหม่

“ถึงเวลาต้องยกเครื่องกฎหมายครั้งใหญ่ ซึ่งคิดว่าจะเสนอกฎหมายใหม่เลย เพราะกฎหมายเดิมออกมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่มีทุนสำรองน้อย เกณฑ์ก็คือทำอย่างไรให้ทุนสำรองอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด แต่ทุกวันนี้คนไทยธุรกิจไทยก็ไปลงทุนต่างประเทศ ธปท.ก็ต้องปรับแก้เกณฑ์ให้คนไทยหรือธุรกิจไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายแม่เดิม ซึ่งก็ค่อนข้างยุ่งยาก และไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน”

ผู้ว่าการ ธปท.อธิบายว่า กฎหมายเดิมจะมองในมุม positive risk คือใครที่จะออกไปลงทุนจะต้องเข้าเกณฑ์1-2-3-4… แต่โลกใหม่ต้องเป็นมุม negative risk คือทำได้หมดทุกอย่างยกเว้น 1-2-3-4.. เพราะถ้าเขียนกฎหมายแบบ positive risk เราจะไม่สามารถไประบุได้ครอบคลุมว่าจะทำธุรกรรมอะไรบ้าง แต่ถ้าเขียนแบบ negative risk เช่น ห้ามนำไปเก็งกำไรค่าเงิน ก็เขียนกฎหมายแค่ห้ามเรื่องนั้น ๆ และถ้าคนไทยหรือธุรกิจไทยจะนำเงินออกไปทำธุรกรรมอื่น ๆ ก็ทำได้หมด เป็นการเปิดเสรีเพิ่มความคล่องตัวนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งก็จะทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศในอนาคตจะมีความสมดุลที่ดีขึ้น ซึ่งก็จะช่วยลดแรงกดดันเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

ทุนสำรองประเทศไม่ใช่ของฟรี

นายวิรไทยอมรับว่า การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท.ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างเป็นแบบโลกเก่า ลงทุนในสินทรัพย์แบบเดิม สกุลเงินต่างประเทศแบบเดิม ขณะที่โครงสร้างการเงินที่เปลี่ยนไป เช่นถ้า “ลิบรา” เกิดขึ้นจริง เป็นสกุลเงินใหม่ขึ้นมาที่สามารถใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศได้ มุมมองก็ต้องเปลี่ยนไป ดังนั้น ธปท.ก็ต้องพิจารณากรอบความเสี่ยงในการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสมสอดคล้องกับการเงินโลกที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า เรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่เห็นว่าอยู่ในระดับที่สูงนั้น “ไม่ใช่ของฟรี” ต้องมีความรับผิดชอบในการดูแล ดังนั้นไม่ใช่ว่าจะเอาไปทำอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตามการบริหารทุนสำรองของ ธปท.ได้มีการนำไปลงทุนกระจายในหลายรูปแบบ ตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาลทั้งของประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ไปจนถึงการลงทุนในหุ้นกู้เรตติ้งดี ๆ ของบริษัททั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการนำไปลงทุนเพื่อหวังกำไรเยอะไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไรอยู่ข้างเดียว เพราะมีความเสี่ยงจากผลกำไรที่สูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ปัจจุบัน ธปท.ได้รับอนุมัติให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในหุ้นได้แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดว่าจะลงทุนได้กี่เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งอาจมีส่วนหนึ่งที่มองเรื่องผลตอบแทนการลงทุน แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของ ธปท.