GDP ญี่ปุ่นต่ำสุด ผลสะท้อนนโยบาย “อาเบะโนมิกส์”

GDP ญี่ปุ่นต่ำสุด ผลสะท้อนนโยบาย “อาเบะโนมิกส์”

อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 1,168 Reads   

อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) นโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ต้องเจอไฟเหลือง เมื่อ GDP ของประเทศญี่ปุ่นหดตัวต่ำสุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกจากผลกระทบของโควิด-19 ในไตรมาสสองที่ผ่านมา  

เมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ประสบผล

หลังจากการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสสองของญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้จัดการแถลงข่าววาระครบรอบ 2,799 วันในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายชินโซ อาเบะ ผู้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นยาวนานที่สุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2020 โดยทำลายสถิติ 2,798 วันของอดีตนายกซาโต้ เอซากุ

เนื้อหาในงานแถลงข่าวได้ถอดนโยบาย Abenomics ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2012 ในแต่ละมิติออกมาวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา โดยในมิติแรกคือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing) ที่ช่วยหยุดการแข็งค่าของเงินเยนหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ค.ศ. 2011 ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก ตามด้วยมิติที่ 2 ด้วยการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ซึ่งช่วยให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในมิติที่ 3 ด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนนี้กลับไม่เห็นผลนัก โดยในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2019 ซึ่งมีการเดินหน้า Abenomics อย่างต่อเนื่องพบว่า GDP ญี่ปุ่นเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 0.9% เท่านั้น โดยตัวเลขดังกล่าวไม่นำการผันผวนของค่าเงินมาคำนวณ หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า สาเหตุที่รัฐบาลของชินโซ อาเบะ ไม่ประสบผลสำเร็จในมิตินี้ เป็นผลจากการสนับสนุนเงินทุนให้กับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ซึ่งทั้งสองส่วนไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ความคาดหวังไว้

อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ การถูกวิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลภายใต้นายกอาเบะนั้นยังติดอยู่ในกรอบความคิดดั้งเดิม ไม่กล้าปฏิรูปแนวทางอย่างที่ควร จากกรณีศาลสูงสุดของญี่ปุ่นได้ตัดสินให้การขายยาสามัญประจำบ้านผ่านช่องทางออนไลน์เป็นความผิดในปี 2013 

เมื่อนวัตกรรมไม่เท่ากับการเติบโต

ในส่วนของนโยบายการสนับสนุนด้านวัตกรรมนั้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ GDP เติบโตต่ำกว่าที่ควร สืบเนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีนั้นใช้งบประมาณสูง และไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีทุกอย่างที่พัฒนาขึ้นจะสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตจำนวนมาก หรือสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า 

GDP ต่อหัวของประชากรญี่ปุ่น เคยอยู่ลำดับ 2 ของโลกในปี 2000 ได้ตกลงมาที่ลำดับ 27 ในปี 2014 และขยับขึ้นมาที่ลำดับ 26 ในปี 2018

การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบันได้ลดลงอย่างมาก จากอัตราการเติบโตปีละ 4% ในช่วงปี 1980 เหลือเพียงราว 1% ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนานวัตกรรมหลายอย่างไม่กระตุ้นให้เกิดการผลิตจำนวนมาก ในขณะที่โมเดลธุรกิจซึ่งมุ่งเน้นขายสินค้าจำนวนน้อยก็มีข้อจำกัด รวมไปจนถึงปัญหาแรงงานในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่สามารถเพิ่มชั่วโมงทำงานได้อีกต่อไป

กำลังการผลิต คือ กุญแจกอบกู้เศรษฐกิจ

Takahide Kiuchi นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Nomura Research Institute แสดงความเห็นว่า “หากให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ก็จะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัว และความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น” ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้เสนอต่อรัฐบาลญี่ปุ่นว่า หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศโดยเร็ว

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า การมาของโควิด แม้จะกระตุ้นให้ Digitalization เกิดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันแนวโน้มนี้ก็หยุดชะงัก สืบเนื่องจากการผันงบประมาณมาใช้เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ประกาศว่า “เราจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส และมุ่งหน้าปฏิรูปประเทศต่อไป” พร้อมแสดงความเห็นว่าหลังจากที่ GDP หดตัวถึง 27.8% แล้ว การผลิตสินค้าจำนวนมาก และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม คือ สิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้ในเวลานี้ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยอมรับว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ได้มีการสรุปการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2012 ได้หยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 และถึงเวลาที่ต้องพิจารณากันแล้วว่าเพราะเหตุใด Abenomics จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร และต้องแก้ไขในส่วนใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจเช่นนี้

ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตอย่างยั่งยืนย่อมหมายถึงความต้องการเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งจากการคำนวณ รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะตกอยู่ในภาวะขาดดุลการคลังไปจนถึงอย่างน้อยปี 2029 เลื่อนออกไปจากเดิมซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นปี 2025 

จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ ซึ่งจะหมดวาระในเดือนกันยายน 2021 จะสามารถใช้เวลาที่เหลือในการฟื้นฟูเศรฐกิจอย่างไร