ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ค.63 ร่วงต่อเนื่อง เอกชนวอนรัฐเร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 12 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 616 Reads   

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 (TCC CONFIDENCE INDEX) จากการสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 364 ราย ระหว่างวันที่ 25 - 29 เมษายน 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 31.3 ลดลงจากเดือนเมษายน อยู่ที่ 32.1 โดยเป็นการลดลง 29 เดือนติดต่อกัน ซึ่งส่งสัญญาณที่ไม่ดี เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า 40 ทุกรายการ ส่วนดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 25.1 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 25.9 ส่วนดัชนีอนาคตอยู่ที่ 37.5 ลดลงจากเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 38.4 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การขยายเวลาการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจการในบางประเภท 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • สศช. เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ติดลบ 1.8% ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน และคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีติดลบ (-6.0%) ถึง (-5.0%) โดยมีค่ากลางที่ติดลบ (-5.5%) จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5%
  • ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • รัฐบาลขยายเวลาการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และยังคงสั่งปิดกิจการในบางประเภทที่ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19
  • สถานการณ์ภัยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ
  • จำนวนคนว่างงานจากสถานการณ์ COVID
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลทำให้รายได้ของเกษตรกรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 32.634 ฿/$ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 63 เป็น 32.039 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย
  • สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ COVID

ปัจจัยด้านบวก

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • มาตรการเปิดเมืองของรัฐบาลระยะที่ 1 และ 2 เพื่อให้กิจการห้างร้านต่าง ๆ กลับมาดำเนินธุรกิจภายใต้วิถี New Normal
  • การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 มูลค่าอยู่ที่ 18,948.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 17.13 มีมูลค่าอยู่ที่ 16.485.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้ามูลค่า 2,462.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ค่า SET Index เดือน พ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 41.19 จุด จาก 1,301.66 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 63 เป็น 1,342.85 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • การปลดล็อกการเดินทางภายในประเทศ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว
  • เร่งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการได้
  • มาตรการของภาครัฐที่ให้มีการจ้างงานในแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับปัญหาการเลิกจ้างงานของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องปรับลดพนักงานของตนเองลง
  • มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินในภาวะตึงตัวจากการหยุดกิจการชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ใหม่อีกครั้ง โดยปัจจุบันภาคธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรฐานของสถาบันการเงิน
  • รัฐบาลควรจัดทำ Bubble หรือ Selective Travel ในกลุ่มประเทศเอเชีย
  • การผ่อนคลายมาตรการการ Lockdown ในพื้นที่รวมถึงการผ่อนคลายธุรกิจให้กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขของความปลอดภัยจากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ให้มากขึ้น 
  • พิจารณาการเปิดด่านสำหรับค้าขายสินค้าตามแนวชายแดนอย่างเต็มรูปแบบเพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ในเวลาอันใกล้ขึ้น


อ่านต่อ: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เม.ย.ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ วอนรัฐผ่อนปรนเปิดกิจการ-คลายล็อกดาวน์