พิษโควิด! ครึ่งปีแรกกระทบแรงงานกว่า 3.3 ล้านคน เอกชนวอนรัฐลดเงินสมทบประกันสังคมถึงสิ้นปี 63

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 402 Reads   

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างสูงถึง 896,330 คน และลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้างจากการปิดกิจการ 332,060 คน รวมทั้ง มีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง และหากมีการขยายมาตรการฯ คาดว่า จะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 800,000 คน ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2563 รวมจะมีลูกจ้างในระบบที่จะได้รับผลกระทบกว่า 3,397,979 คน

เอกชนจึงเสนอภาครัฐช่วยลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน พร้อมทั้ง ขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้มีงานทำ จำนวน 37.3 ล้านคน (ภาคบริการ 47%, ภาคเกษตรกรรม 30% และภาคการผลิต 23%), ผู้ว่างงานจำนวน 0.39 ล้านคน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 0.49 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2563) จำแนกออกเป็น 1)แรงงานที่มีรายได้ประจำ (มาตรา 33) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน 2) อาชีพอิสระ (มาตรา 39, 40) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 8 ล้านคน 3) เกษตรกร ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 15,000 บาท จำนวน 17 ล้านคน และ 4) ข้าราชการ ได้รับเงินเดือนหรือบำนาญเต็มจำนวนตามปกติ จำนวน 2 ล้านคน โดยคาดว่าธุรกิจการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด
 
สำหรับสถานการณ์การว่างงานและเลิกจ้าง พบว่า มีแรงงานที่ถูกพักงานจากสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว จำนวน 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง จำนวน 896,330 คน และมีแรงงานที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้าง สิ้นสุดสัญญาจ้าง ณ เดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 332,060 คน โดย 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 คือ ภาคการผลิต, โรงแรมและภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ ตามลำดับ โดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง
 
นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน COVID-19 กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชนขอเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยา 7 ข้อ ดังนี้
 
1) ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2) เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
3) เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน
4) ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
5) ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เหลือร้อยละ 0.01
6) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี
7) จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง
 
นอกจากนี้ ขอให้สํานักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill/Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 400,000ล้านบาท) เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมต. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาเผยถึงความต้องการแรงงานยังมีมาก ซึ่งต้องยกระดับแรงงานให้รองรับการทำงานวิถีใหม่ และมุ่งเน้นสู่ตลาดแรงงานในกลุ่ม S-Curve


อ่านต่อ:
กกร. คาด COVID-19 ทำเศรษฐกิจพังถึงหลักล้านล้าน-กระทบแรงงานหลายล้านคน