หอการค้าฯ จับมือภาคธุรกิจ ชู 10 ประเด็น เปิดเวทีถกนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ปี 66

หอการค้าฯ จับมือภาคธุรกิจ ชู 10 ประเด็น เปิดเวทีถกนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ปี'66

อัปเดตล่าสุด 31 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 1,451 Reads   

หอการค้า ฯ จับมือภาคธุรกิจ ชู 10 ประเด็นเศรษฐกิจ เปิดเวทีถกนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ปี 66 มอบสมุดปกขาวข้อเสนอภาคธรุกิจจากเวทีแลกเปลี่ยนฯ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ

วันที่ 30 มีนาคม 2566 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเวทีให้พรรคการเมืองรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอภาคธุรกิจ ภายใต้ชื่องาน เวทีตอบข้อซักถาม “มุมมอองของภาคธุรกิจ ต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” โดยมี 10 พรรคการเมืองตบเท้าเข้าร่วมรับฟังและประชันนโยบายพรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล (นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย), พรรคชาติไทยพัฒนา (ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค), พรรคชาติพัฒนากล้า (นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค), พรรคประชาธิปัตย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค), พรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค), พรรคพลังประชารัฐ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง), พรรคเพื่อไทย (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช ประธานนโยบายพรรค), พรรคภูมิใจไทย (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค), พรรครวมไทยสร้างชาติ (หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค), พรรคเสรีรวมไทย (นายกษิติ กมลนาวิน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย วัฒนา)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าฯ กล่าวว่า ปี 2566 ถือเป็นปีที่หอการค้าไทยครบรอบการก่อตั้ง 90 ปี จึงได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายภาคธุรกิจไทย ด้วยแนวความคิด Connect – Competitive - Sustainable เพื่อนำภาคธุรกิจไทยก้าวสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ที่จะเป็นการกำหนดทิศทางการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ภายใต้ 9 วันแรกการดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าฯ สมัยที่ 2 จึงได้จัดเวทีให้พรรคการเมืองรับฟังและตอบคำถามภาคธุรกิจ 

หอการค้าฯ จับมือภาคธุรกิจ ชู 10 ประเด็น เปิดเวทีถกนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ปี 66

ไฮไลท์สำคัญคือการเชิญตัวแทนภาคธุรกิจและผู้แทนเครือข่ายหอการค้าฯ มาสะท้อนแนวคิดและข้อเสนอเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 10 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมภาคธุรกิจเกษตร อาหาร และ BCG & ESG , Digital Transformation และการศึกษาไทย, การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ, การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาแรงงานไทย, การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ, การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค, โอกาสของไทยด้านการค้าข้ามแดนและชายแดน, การสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และข้อเสนอจากตัวแทนนักศึกษา ซึ่งระหว่างนั้นพรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นผู้ฟังก่อนเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคจับฉลากตอบคำถามในประเด็นที่ภาคธุรกิจได้เสนอไว้ ซึ่งผลจากเวทีการเสวนาหอการค้าได้ สรุปประเด็นและข้อเสนอของภาคธุรกิจ เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย ประกอบด้วย 

1. การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม (Connect) ภาคธุรกิจมีความตั้งใจที่อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเสถียรภาพ เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ลดความขัดแย้ง สานต่อนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยเฉพาะกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิด การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการเพิ่มบทบาททางการต่างประเทศกับนานาชาติให้มากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐจาก Regulator สู่การเป็น Facilitator เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitive) ภาคธุรกิจอยากให้รัฐบาลเดินหน้าสานต่อการดำเนินการเรื่อง Ease of Doing Business และ Ease of Investment อย่างเป็นรูปธรรม เพราะถือเป็นประตูด่านแรก ในการสร้างการดึงดูดการลงจากทั้งในและต่างประเทศ โดยนำ Digital Transformation มาใช้เพื่อให้บริการภาครัฐมีความรวดเร็ว สะดวก และมีความโปร่งใส ขณะเดียวกันต้องเร่งผลักดัน FTA หรือข้อตกลงทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสด้านเศรษฐกิจให้กับประเท ยกระดับภาคการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรและแรงงานทักษะสูง ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด การจัดทำโยบายภาคการเกษตรที่ยึดตลาดนำการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และการส่งเสริมการแปรรูปรวมถึงการเร่งฟื้นฟู SMEs ทั่วประเทศ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

3) ส่งต่อแนวทางความยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต (Sustainable) วันนี้ประเด็นความยั่งยืนคงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับประเทศไทย แต่จะเป็นทางรอดในการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ภาคธุรกิจจึงอยากให้พรรคการเมืองมีแนวทางที่ชัดเจน ที่จะนำประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่แนวคิดความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งแนวทาง BCG, SDGs และ ESG ให้เกิดการรับรู้และปรับใช้ในทุกระดับของสังคม โดยภาคธุรกิจพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นและสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

จากข้อสรุปบนเวทีแห่งนี้ ภาคธุรกิจอยากเห็นทุกพรรคการเมืองได้นำเอาข้อเสนอดังกล่าวไปปรับใช้กับนโยบาย โดยเฉพาะการจัดทำนโยบายที่ไม่เป็การสร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศ เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในระยะยาว ซึ่งพรรคการเมืองเองจะต้องตอบคำถามประชาชนให้ชัดเจนว่านโยบายต่าง ๆ จะใช้งบประมาณจากแหล่งใด กระทบต่อฐานะทางการเงินการคลังของประเทศหรือไม่ ความคุ้มค่าและการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งท้ายที่สุดหลังจากเลือกตั้ง 

หอการค้าฯ อยากเห็นการฟอร์มทีมรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและราบรื่น เพื่อที่จะเข้ามาดูแลการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขและฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่จะต้องเร่งทำทันทีเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นายสนั่นกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากการแสดงวิสัยทัศน์ของตัวแทนพรรคการที่เข้าร่วม ประธานกรรมการหอการค้าฯ ได้มอบสมุดปกขาวข้อเสนอภาคธรุกิจจากเวทีแลกเปลี่ยนฯ เพื่อเป็นแนวทางแก่พรรคการเมืองในการพิจารณากำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจในด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH