การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนเมษายน 2561

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 536 Reads   

การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 12.3 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 หรือคิดเป็นมูลค่า 18,946 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกในตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย CLMV สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน อีกทั้งการส่งออกไปตลาดจีนกลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป 

แนวโน้มการส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดศักยภาพสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 55.5 สูงกว่าระดับ 50 สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการส่งออกจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ มูลค่าการจ้างงาน และมูลค่าสินค้าคงคลัง


การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 14 ที่ร้อยละ 12.2 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.8 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.9  (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 29.0 (ส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย) น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 39.0 (ส่งออกไปตลาดสิงคโปร์ กัมพูชา ลาว จีน และเวียดนาม) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ตู้เย็นและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 9.4 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หดตัวร้อยละ 5.0 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และเวียดนาม) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.9

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้น ตลาดอาเซียน 5 และตลาดตะวันออกกลาง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.9 โดยเป็นการขยายตัวในทุกตลาด ทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ที่ขยายตัวร้อยละ  9.6 14.8 และ18.5 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.1 โดยการส่งออกอินเดียยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 28.7 ประกอบกับการส่งออกจีนกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.9 หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า การส่งออกไป CLMV ฮ่องกง เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 19.3 13.8 และ 9.9 ตามลำดับ ด้านตลาดศักยภาพระดับรองฟื้นตัวสูงและขยายตัวร้อยละ 13.8  จากร้อยละ 5.9 ในเดือนมีนาคม และตลาดส่วนใหญ่ขยายตัวในระดับ 2 หลัก อาทิ การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS  ที่ขยายตัวร้อยละ 16.9 19.7 23.4 และ 28.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตะวันออกกลางหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ 4.9

โดยตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 9.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องจักรกลฯ อัญมณีฯ ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.3

ตลาดสหภาพยุโรป(15) ขยายตัวร้อยละ 18.5 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อากาศยานและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ และเนื้อและส่วนต่าง ๆ  เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.8

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 14.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ แผงวงจรไฟฟ้า และทองแดงฯ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 21.5

ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 19.9 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 352 ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.0

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 24.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.9

ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 19.3 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.6

ตลาดอาเซียน(5) หดตัวร้อยละ 2.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าสำคัญอื่นๆ ขยายตัวสูง ทั้ง อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า นอกจากนี้สินค้าส่งออก 20 อันดับแรก ขยายตัวถึง 18 สินค้า สะท้อนถึงการหดตัวครั้งนี้น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.0

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 23.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ 
เครื่องจักรกลฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ ข้าว และตลับลูกปืน เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัว
ร้อยละ 9.0

ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 28.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศฯ และผลไม้กระป๋องฯ เป็นต้น 
ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 39.7

ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 16.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.5

ตลาดตะวันออกกลาง(15) กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนหดตัวร้อยละ 4.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ และ ตู้เย็นและส่วนประกอบฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องจักรกลฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.8


แนวโน้มการส่งออกปี 2561

การส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีพื้นฐานการขยายตัวแข็งแกร่งจากการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูงและมาตรการกระตุ้นทางด้านภาษี กลุ่มประเทศยูโรโซน แนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ตามการสนับสนุนจากนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และการส่งออกขยายตัวดี นอกจากนี้ เศรษฐกิจหลายประเทศในเอเชีย ขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจจีนแนวโน้มยังไปได้ดี หลังจากไตรมาสแรกของปีขยายตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวสูง เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีอันจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต 

นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี และส่งผลดีต่อรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยง เพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือ พร้อมทั้งหาโอกาสส่งออกสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ภายใต้สถานการณ์ทางการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา