เปิด 10 เกณฑ์ธุรกิจเลี่ยงภาษี สรรพากรเข้มบริษัทใช้เงินสด

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 800 Reads   

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากที่มีข่าวเกี่ยวกับกรณีกรมสรรพากรออกกฎหมายอีเพย์เมนต์ ที่ให้มีการรายงานธุรกรรมรับ/ฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี และกรณีล่าสุดให้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ทำให้มีการหันกลับไปใช้จ่ายเป็นเงินสดกันมากขึ้น ตนขอยืนยันว่า กรมสรรพากรไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อเก็บภาษีเพิ่มแต่อย่างใด เพราะกรมสรรพากรก็ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถเรียกดูได้อีกมาก


“แต่ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยผู้เสียภาษีด้วยซ้ำ และหากคนหันไปใช้เงินสด จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับกรมสรรพากร เพราะฉะนั้นอยากสร้างความเข้าใจว่าบางทีกลัวกันเกินไป” นายเอกนิติกล่าว

จับตาธุรกิจใช้ “เงินสด”


นายเอกนิติกล่าวเพิ่มว่า ในช่วงเดือน พ.ค.นี้เป็นช่วงการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ซึ่งกรมตั้งเป้าหมายว่า น่าจะมีเม็ดเงินภาษีเข้ามาราว 150,000 ล้านบาทในช่วงนี้


แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีนิติบุคคลแล้ว กรมจะดำเนินการตรวจสอบภาษี โดยใช้ระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (RBA) ที่แต่ละปีจะมีการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยง เพื่อให้ระบบคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงแยกออกมาเพื่อเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งปีนี้จะมีการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยง 10 เกณฑ์ และจะประกาศเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ด้วย เพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้ถูกต้องและไม่ถูกตรวจสอบเข้มข้น


สำหรับ 10 เกณฑ์ความเสี่ยงของธุรกิจที่กรมสรรพากรกำหนด อาทิ 1.ใช้เงินสดเป็นหลัก ไม่ใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 2.สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง 3.เงินกู้ยืมกรรมการมากแต่ไม่สามารถชี้แจงได้ 4.ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน 5.บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง 6.บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน 7.ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่รายได้ลดลง 8.มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ เมื่อเทียบกับรายได้ 9.มีการสร้างค่าใช้จ่ายเท็จขึ้นมา เป็นต้น


พร้อมกันนี้ กรมสรรพากรมีมาตรการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว โดยเปิดให้เอสเอ็มอีที่ยังเสียภาษีรอบปี 2559-2560 ขาดอยู่ และอยากเสียภาษีให้ถูกต้อง สามารถลงทะเบียนในระบบ “ส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ” ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร หากต้องการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา พ.ศ. 2562 ซึ่งมีเอสเอ็มอีที่เข้าข่ายกว่า 4.6 แสนราย ทั้งนี้ให้ลงทะเบียนวันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 มิ.ย.นี้ เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการได้ปรับปรุงบัญชีงบการเงินให้ถูกต้อง และจะได้ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจเข้ม


“7 พ.ค.นี้ กรมจะจัดงานสัมมนาการทำบัญชีเดียวอีกครั้ง และประกาศ 10 เกณฑ์ความเสี่ยง ที่จะตรวจสอบเข้มข้น” 


ก่อนหน้านี้ กรมระบุว่า หลัง 30 มิ.ย. 2562 จะเข้มงวดตรวจสอบนิติบุคคลว่ามีการจัดทำบัญชี/งบการเงินอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ โดยจะใช้ระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีตามระดับความเสี่ยงของงบการเงิน โดยกลุ่มธุรกิจทีจะจับตามากที่สุด คือ ธุรกิจที่มีการใช้ธุรกรรมเงินสด


นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.ได้เข้าไปร่วมกับกรมสรรพากรและธนาคารพันธมิตร ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำบัญชีเล่มเดียว ซึ่งผู้ประกอบการจะมีภาระต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากรให้ถูกต้อง โดยจะมีการค้ำประกันสินเชื่อให้ ด้วยการคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันในอัตราที่ต่ำลงเป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่เอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการจะได้รับเงินกู้จากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยแค่ 5% ต่อปี ซึ่งกู้ได้เป็นเวลา 2 ปีอยู่แล้ว


ทั้งนี้ บสย.มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS ระยะที่ 7) สำหรับนิติบุคคลบัญชีเล่มเดียว โดยเตรียมวงเงินไว้ทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท โดยให้วงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป (ไม่เกิน 40 ล้านบาท) ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี คิดค่าธรรมเนียม 1.5% ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน ซึ่งปีแรกรัฐช่วยค่าธรรมเนียม 1.5% ปีที่ 2-3 รัฐช่วย 1% ผู้ประกอบการจ่ายเอง 0.5% และตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไป ผู้ประกอบการจ่ายเอง 1.5%