กสอ. สานพลังไทยพาณิชย์ ติดอาวุธเอสเอ็มอี 4.0 หนุนเทคโนโลยีขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

อัปเดตล่าสุด 11 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 326 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศความร่วมมือสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0 พร้อมเดินหน้าผลักดันการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีต่อยอดศักยภาพวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพอย่างรอบด้าน ชูพันธกิจร่วมเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้เอสเอ็มอีเพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน อาทิ ส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ สร้างโอกาสทางการตลาดผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม สนับสนุนการจัดโครงการ Startup Hub เพื่อสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ผลักดันการใช้ฐานข้อมูลจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ทั้งเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินได้อย่างคล่องตัว
 
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดกระบวนการปฏิรูปประเทศโดยใช้โมเดลการพัฒนาประเทศไทย 4.0 เป็น Roadmap ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Value-Base ในทุกมิติ อาทิ การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่การผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม การเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยการรับจ้างผลิต หรือ OEM ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การเปลี่ยนจากการแข่งขันกันเองภายในประเทศสู่การแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ และการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาและการพัฒนาคนไปสู่การลงทุนเพื่อสร้างคน สร้างงานวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ทั้งนี้ การสร้างผลสัมฤทธ์เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ Big Brothers ต่างๆ จะต้องเข้าไปช่วยเหลือโดยใช้แนวคิดของ CIV คือ C = Concensus I = Identity V = Value Creation ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีการระบุพิกัดแหล่งท่องเที่ยวหรือร้านค้าชุมชนเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตและสามารถเดินทางมาได้อย่างสะดวก ตลอดจนการค้าผ่าน e-commerce ที่จะสามารถซื้อขายสินค้าได้จากทั่วทุกมุมโลก นับเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่สากลเพื่อก้าวไปสู่ Global Value Chain โดยเป้าหมายดังกล่าวได้นำมาซึ่งความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถาบันการเงินรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของเอสเอ็มอีจนเป็นที่ประจักษ์ จึงมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ของวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ทอัพ ในการขยายช่องทางการตลาดและสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางขึ้นด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มของธนาคาร และศักยภาพอื่นๆ ของธนาคารที่จะก่อให้เกิดการต่อยอดของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
 
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีบทบาทในการพัฒนาเอสเอ็มอีด้วยการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีองค์ความรู้ ทักษะความสามารถ และมีศักยภาพในการบริหารจัดการองค์กร การดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ รวมทั้งยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่สากลเพื่อก้าวไปสู่ Global Value Chain ทั้งนี้ ในการพัฒนาเอสเอ็มอีมีหลายหน่วยงานและองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจเอสอ็มอีให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยความร่วมมือ MOU ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันก่อให้เกิดความร่วมมือในการบูรณาการ ทั้งในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรการสำคัญทางด้านการเงินและการยกระดับขีดความสามารถ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนด้านข้อมูลโดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขยายผลครอบคลุมกว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น ตลอดทั้งเกิดการบูรณาการเพื่อหาแนวทางความร่วมมือช่วยเหลือเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนต่อไปในอนาคต
 
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีเครือข่ายพันธมิตรชั้นนำที่หลากหลาย ซึ่งล้วนมีเป้าหมายหลักเดียวกันคือ การส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างรอบด้าน สำหรับความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีโอกาสนำศักยภาพและความพร้อมทางด้านทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ที่ได้มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง มาใช้สร้างประโยชน์ให้กับเครือข่ายเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และลงลึกถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยธนาคารไทยพาณิชย์ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะร่วมกันบูรณาการวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอีไทย และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ให้พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าเพิ่มตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 สำหรับความร่วมมือครอบคลุมพันธกิจ 6 ด้าน ประกอบด้วย (1) สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เข้าถึงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์การดำเนินธุรกิจ (2) สร้างโอกาสทางการตลาดและการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของธนาคารที่มีอยู่และกำลังพัฒนาในอนาคต รวมถึงแพลตฟอร์มที่ธนาคารได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำอื่น ๆ เช่น การปักหมุดสถานที่ประกอบธุรกิจบน Google My Business เป็นต้น โดยโฟกัสกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน (3) ร่วมสนับสนุนโครงการ Startup Hub ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (4) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์และระบบฐานข้อมูลจับคู่ธุรกิจออนไลน์ครอบคลุมทั้งการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง และระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในต่างประเทศ (5) สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินของธนาคารได้อย่างคล่องตัวและตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง และ (6) เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีภายใต้เครือข่ายของทั้งสององค์กรสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ระหว่างกัน เพื่อเปิดมุมมองในการทำธุรกิจได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ (Sharing Economy) ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องไปสู่ทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน