อุตตม ชูแผนยุทธศาสตร์ “Factory 4.0” ผนึกพลังเอกชนเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทั้งระบบ

อัปเดตล่าสุด 27 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 363 Reads   

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์ “Factory 4.0” สร้างพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้แนวทางเกื้อหนุนอย่างจริงจังระหว่างภาคการผลิตกับชุมชน ให้ความสำคัญกับการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง และพัฒนาคนในโรงงานและในชุมชนรอบข้างให้อยู่ดีกินดีขึ้น 

นายอุตตมฯ กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์ Factory 4.0” มองทั้ง 4 มิติเชื่อมโยงกันเป็นระบบ โดยภาคการผลิตคือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่กว่า 1.5 แสนรายทั่วประเทศจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รัฐจะให้กับสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการใช้บริการกับภาครัฐลงให้มากที่สุดดังเช่นนโยบายการยกเลิกการต่ออายุใบ รง.4   แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงงานต้องใส่ใจและดูแลองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากอีก 3 ส่วนคือ 

1. สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้องมีการดูแลรักษาและปกป้องอย่างจริงจัง โดยมิติใหม่ของโรงงานจะเป็น “ผู้สร้างไม่ใช่ผู้ทำลาย” 
2. การพัฒนาชุมชนให้ให้เข้มแข็งมี “ทุนสะสม” ที่ชุมชนจะใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเขาได้เอง  
3. การพัฒนาคนในโรงงานและในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างงานและอาชีพเสริมที่เชื่อมโยงหรือจ้างช่วงจากโรงงาน โดยเฉพาะผู้สูงวัยในภาคการผลิตที่จะกลับสู่ชุมชน คนเหล่านี้ต้องอยู่ได้โดย “ไม่เป็นภาระลูกหลาน” ซึ่งรัฐและเอกชนจะร่วมมือกันดูแล 

“ปัจจัยสำเร็จของการช่วยยกระดับชุมชนคือการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้ดีขึ้นเพื่อให้ธุรกิจเกิดความเข้มแข็งมีแรงขับเคลื่อนเสมือนหัวรถจักรที่จะช่วยดึงภาคชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้เข้มแข็งเช่นกัน  ภาคเอกชนเป็นกลไกในการช่วยเหลือชุมชน ส่วนภาครัฐเป็นผู้หนุนเสริมเชิงนโยบาย”

โดยในแผนยุทธศาสตร์นี้ผลพลอยได้สำคัญคือการจัดทำฐานข้อมูลสำคัญที่ยังไม่มีการทำมาก่อน  นั่นคือ “Big Data ภาคอุตสาหกรรม” ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการทำการรับรองตนเองของผู้ประกอบการ “Self-Declaration” ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะมีความสำคัญมากต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาภาคการผลิตของไทยทั้งระบบของรัฐบาลในอนาคต

นายอุตตมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ผมให้ความสำคัญทั้ง 4 ส่วนซึ่ง 4 ส่วนนี้ต้องหลอมเป็นเนื้อเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศจึงจะเดินหน้าและพัฒนาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้สำเร็จ  ผู้ประกอบการภาคการผลิตทั่วประเทศต้องเข้มแข็งมีพละกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจพื้นที่ของตน  ผู้ประกอบการต้องใส่ใจปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงานจริงจัง  มีการส่งเสริมพัฒนาชุมชนรอบข้างให้อยู่ได้เพื่อเป็นเครือข่ายสนับสนุนโรงงาน  และต้องช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพราะนั่นคือแรงงานที่มีค่าของกิจการ   นี่คือเป้าหมายที่ผมอยากเห็นและจะทำต่อเนื่องแน่นอนเมื่อมีโอกาสในอนาคต

ด้าน นายพสุ  โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้วาง Road Map ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ และที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ ได้แก่ คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ คณะทำงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบการอุตสาหกรรม คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ คณะทำงานเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะทำงานนี้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกร่วมสำคัญระหว่างกระทรวงฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 4 ด้าน ทั้งในด้านการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ ชุมชน การพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป 

ในส่วนของนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาฯ พร้อมมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกด้าน ทั้งในส่วน ของการใช้ระบบกำกับดูแลโรงงานรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ จะผลักดันให้สมาชิกที่มีศักยภาพช่วยเหลือการพัฒนาวิสาหกิจ SMEs และชุมชน ผ่านกลไก Big Brother ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนเครื่องจักรต้นแบบ การยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้คำปรึกษา และการจับคู่ธุรกิจของผู้ประกอบการ  รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกนำแนวคิด Circular Economy ไปขับเคลื่อนและขยายผลตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการทางธุรกิจ และในส่วนของการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมฯ จะสนับสนุนการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมผ่านกลไก Big Brother โดยครอบคลุมทั้งการพัฒนากำลังคนในโรงงานผ่านโครงการทวิภาคี และการส่งเสริมการจ้างงานผู้เกษียณอายุ และการพัฒนาคนในชุมชน เช่น การสนับสนุนพื้นที่ขายสินค้าภายในโรงงานสำหรับคนในชุมชน โครงการเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการศึกษาในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น