
บูมอุตสาหกรรมการบิน ม.เกษมบัณฑิตปั้นคนครบวงจร
แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินของโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทโบอิ้งคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินกว่า 41,000 ลำ ทั้งยังมีความต้องการนักบินจำนวน 6.17 แสนคนตลอดจนช่างซ่อมบำรุงอีกจำนวน 6.79 แสนคน ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยระบุว่าความต้องการบุคลากรด้านการบิน และบุคลากรด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศ และช่างอากาศยานในภูมิภาคเอเชียจะมีมากถึง 40,000 คน
ผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินส่งผลให้มีการขยายเส้นทางการบินเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรสาขาอุตสาหกรรมการบินย่อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยมีหลายสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านนี้โดยเฉพาะ พร้อมเดินหน้าเปิดหลักสูตรการบินครบวงจร (One Stop Total Solutions)
“ดร.เสนีย์ สุวรรณดี” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมามีสายการบินใหม่เปิดขึ้นเยอะมาก มหาวิทยาลัยจึงเปิดหลักสูตรด้านการบริการ ได้แก่ สาขาธุรกิจการบิน และสาขาการจัดการอุตสาหกรรมการบิน ในระดับปริญญาตรี และสาขาการจัดการการบิน ในระดับปริญญาโท เพื่อสร้างมืออาชีพไปรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน หลังจากนั้นจึงเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน (Aviation Personnel Development Institute :APDI) โดยให้บริการ Facility และ Safety training กับสายการบินของไทยและภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเห็นปัญหาการขาดแคลนนักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยานซึ่งประเทศไทยผลิตนักบินปีละประมาณ 300 คน แต่ความต้องการนักบินอยู่ที่ปีละ 400-500 คน รวมถึงอาชีพช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในปัจจุบันมีประมาณ 9,000 คน แต่มีความต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 คน นอกจากนั้นภาครัฐยังมีนโยบายให้การบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม new S-curve และแผนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงจะขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3
ขณะเดียวกัน ยังมีการอนุมัติการขยายสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ
“ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนมากมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน แต่คนที่จะมารองรับหรือทำงานในอุตสาหกรรมนี้กลับมีไม่เพียงพอความต้องการ ดังนั้น ม.เกษมบัณฑิตจึงพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม โดยจะเปิดสาขานักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยานในปีการศึกษา 2561”
แผนการดำเนินงานที่วางไว้คือ จะเน้นการสร้างเครือข่าย อย่างสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization : ATO) ในการร่วมผลิตนักบินพื้นฐาน และมี Airline Partner มาสนับสนุนการพัฒนานักบิน รวมถึงการจับมือกับบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานด้วย ซึ่งการเปิดหลักสูตรครั้งนี้จะเติมเต็มความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอย่างเป็นระบบและครบวงจร
“ดร.ปริญญา บุญมาเลิศ” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิตให้รายละเอียดเพิ่มเติมของหลักสูตรนักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยานว่า จะเป็นแขนงวิชาของสาขาวิศวกรรมเครื่องกล โดยปกติแล้วสาขานี้รับนักศึกษาใหม่ปีละ 60 คน เมื่อเพิ่ม 2 แขนงวิชาใหม่เข้ามา ตั้งเป้ารับนักศึกษาใหม่เพิ่มอีกเท่าตัว หรือแขนงวิชาละ 30 คนต่อปี ซึ่งค่าเรียนของหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ที่ 3 แสนบาทตลอดหลักสูตร ส่วนหลักสูตรนักบินอยู่ที่ 2 ล้านกว่าบาทตลอดหลักสูตร
“ด้วยความที่เป็นแขนงวิชา นักศึกษาจะได้เรียนวิชาหลักของเขาตอนปี 3 ข้อดีคือ หากเขาเรียนไปแล้ว และระหว่างทางได้พิจารณาว่าตัวเองต้องการเปลี่ยนสาย ก็สามารถเบนเข็มไปเรียนสาขาอื่นได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น ซึ่งหลักสูตรที่เปิดเป็นสาขาเฉพาะไปเลยจะไม่สามารถทำอย่างนี้ได้”
ทั้งนี้ การเปิดหลักสูตรนักบิน และช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน จะช่วยตอกย้ำภาพของ ม.เกษมบัณฑิตให้มีความโดดเด่นด้านการบินมากยิ่งขึ้นหลังจากที่สาขาธุรกิจการบิน และสาขาการจัดการอุตสาหกรรมการบินเป็นหลักสูตรธงนำของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาโดยตลอด
พร้อมกันนั้น ม.เกษมบัณฑิตตั้งเป้าว่า จะปั้นสถาบันพัฒนาบุคลากรการบินให้มีมาตรฐานมากที่สุด โดยต้องเป็น One Stop Service ทั้งด้าน Simulator และ Safety training เพื่อก้าวสู่การเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันพัฒนาบุคลากรการบินที่มีคุณภาพของไทยให้ได้
Source : Prachachat.net
Products

Kennametal – Mill 16™ เม็ดมิลลิ่งและหัวคัตเตอร์คุณภาพสูงสำหรับกัดเหล็กหล่อชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทเสื้อสูบ ฝาสูบและอื่น ๆ

เตาฉีดอลูมิเนียม Westomat สำหรับงานฉีดขึ้นรูปที่ให้ความแม่นยำสูง ลดการสิ้นเปลืองพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Kennametal – 7792 High Feed เม็ดมิลลิ่งและหัวคัตเตอร์สำหรับงานกัดที่ต้องการความเร็ว ผิวงานคุณภาพและลดแรงโหลดที่เครื่องจักร 

เตาหลอม StrikoMelter เทคโนโลยีขั้นสูงมาตรฐานเยอรมันที่มีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่น้อยที่สุด

ซอฟต์แวร์ PiWeb จาก Zeiss ตอบสนองความต้องการยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ทำให้ท่านสามารถควบคุมคุณภาพชิ้นงานได้อย่างสมบูรณ์ 

ใหม่! 80º Rhombic Insert ที่มาพร้อมกับ High Helical Cutting Edge รุ่น HELIDO 800 LINE สำหรับการกำจัดโลหะจำนวนมาก

ใหม่! 80º Rhombic Insert ที่มาพร้อมกับ High Helical Cutting Edge รุ่น DOVE IQ MILL 845 LINE สำหรับงานกัดโลหะจำนวนมาก 
