เร่งพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) สศอ. ชี้ เป็นเครื่องมือช่วยหาพื้นที่ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 1,879 Reads   

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้แถลงข่าวและเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System – GIS ) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ฯ

โดยนายพสุ กล่าวว่า การสร้างเครื่องมือการพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในครั้งนี้ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ทั้ง 5 สาขา (New S-curve) ให้สามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนประมาณร้อยละ 30 ในอนาคต

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงสนับสนุนให้มีกลไกและเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หนึ่งในนั้นก็คือการใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ( GIS ) มาใช้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสนองตอบต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ จัดการ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลทั้งในรูปแบบของแผนที่และฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน

ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยว่า การจัดทำโครงการระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สืบเนื่องจากนโยบาย Thailand 4.0 นั้นมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนภายในประเทศไทย

สศอ. ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายนี้และเห็นว่าการแข่งขันได้ในเวทีโลก ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 และจะสิ้นสุดการปฏิบัติงานในวันที่ 7 สิงหาคม 2561

โดยมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนำร่องเข้าร่วมสัมมนา รวมทั้งทีมที่ปรึกษาโครงการได้มีการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้อำนวยการสถาบันต่างและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับปัจจัยในการเลือกทำเลที่ตั้งของอุตสาหกรรมนำร่องทั้ง 5 อุตสาหกรรม ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  2. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
  3. หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม
  4. อุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์สมัยใหม่
  5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

“ระบบ GIS ที่จัดทำขึ้น นอกจากจะให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแล้วจะมีการนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในรูปของแอปพลิเคชั่น (Application) อีกด้วย เพื่อให้บุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ/นักลงทุน ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้เข้าถึงและสามารถสืบค้นข้อมูลของอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่ ศักยภาพของพื้นที่ในการลงทุน การขนส่ง ความหนาแน่นของโรงงานอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค ความเหมาะสมในการลงทุน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ สนับสนุนประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน” นายศิริรุจกล่าว

ทั้งนี้ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้จะเป็นการนำเสนอผลของการศึกษาเพื่อกำหนดเกณฑ์ ปัจจัยในการวิเคราะห์ศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษา 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนำร่อง 5 อุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดเกณฑ์ ปัจจัยและวิธีการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ (Potential Area) ในการพัฒนาอุตสาหกรรม

สำหรับอุตสาหกรรมนำร่อง ส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ เพื่อสร้างแบบจำลองที่ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ปัจจัยลักษณะทางกายภาพ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านโครงข่ายการขนส่งและสาธารณูปโภค

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่ค้นพบในระหว่างกระบวนการศึกษา

ซึ่งผลการศึกษาทั้ง 2 ส่วนจะนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

“ผลที่ได้รับจากโครงการในระยะแรก ประกอบด้วยรายงานการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระจายตัวของอุตสาหกรรมย้อนหลัง 5 และ 10 ปี รายงานผลการวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวม และหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่สำหรับ 5 อุตสาหกรรมนำร่อง” นายศิริรุจ กล่าวสรุป