สมอ.ยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กเส้น ดีเดย์ 18 มิ.ย. เพิ่มมาตรฐานความเชื่อมั่นผู้บริโภค

อัปเดตล่าสุด 14 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 953 Reads   

สมอ.ยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กอีกขั้น ปรับปรุงมาตรฐานเหล็กเส้นก่อสร้างฉบับใหม่  เป็นเหล็กเส้นกลม มอก.ที่ 20-2559 และเหล็กข้ออ้อย มอก.ที่ 24-2559 โดยเพิ่มชื่อประเภทเตาหลอมที่ใช้ผลิต รวมทั้งเพิ่มค่าเคมีที่ต้องตรวจสอบและควบคุมในเนื้อเหล็ก ชูเตา EF มาตรฐานเข้ม เริ่มบังคับใช้ 18 มิถุนายนนี้เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค  


 

นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า  “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานเหล็กเส้นก่อสร้างใหม่ จากเดิมเหล็กเส้นกลม มอก. ที่ 20-2543 และเหล็กข้ออ้อย มอก. ที่ 24-2548 เป็น เหล็กเส้นกลม มอก. ที่ 20-2559 และเหล็กข้ออ้อย มอก.ที่ 24-2559  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ดังนั้นทางสภาอุตสาหกรรมและสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะเผยแพร่เนื้อหาและสาระสำคัญ ของมาตรฐานเหล็กเส้นก่อสร้างฉบับใหม่ โดยจะเน้นการยกมาตรฐานคุณภาพเหล็กให้สูงขึ้น ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจ เพิ่มความมั่นใจในการเลือกใช้เหล็กเส้นก่อสร้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค”  

สำหรับเนื้อหาสำคัญที่ได้ระบุเพิ่มเติมประกอบด้วย 

1.เพิ่มการตรวจสอบและควบคุมค่าเคมีในเนื้อเหล็กอย่างเข้มงวด โดยเพิ่มค่าเคมีที่ต้องตรวจสอบและควบคุมจาก 5 ชนิดเป็น 19 ชนิด โดยค่าเคมีที่กำหนดเหล่านี้จะถูกควบคุมไม่ให้มีมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของเหล็ก และความปลอดภัยของผู้บริโภค อาทิเช่น การมีฟอสฟอรัสในปริมาณสูงจะทำให้เหล็กเกิดรอยแตกได้ง่าย กำมะถันสูงจะทำให้เหล็กมีความเหนียวต่ำและเปราะหักง่าย หรือโบรอนสูงจะทำให้เหล็กขาดความแกร่งเกิดรอยแตกได้ง่าย เป็นต้น 

2.เพิ่มชื่อผู้ประกอบการนำเข้าเหล็กเส้นก่อสร้างเป็นตัวนูนลงบนเนื้อเหล็ก เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตที่อยู่ในต่างประเทศ ในกรณีที่เกิดปัญหาในการใช้งาน 

3.บังคับให้ผู้ผลิตแสดงชนิดของเตาหลอมที่ใช้ในการหลอมเหล็กเป็นตัวนูนเพิ่มลงไปบนเนื้อเหล็กทุกเส้น โดยที่ปัจจุบันมีเตาหลอมอยู่ 4 ชนิดได้แก่ OH, BO, EF และ IF  

โดย เตา OH กับ BO จะเป็นเตาหลอมที่ไม่มีในประเทศไทย ซึ่งเหล็กเส้นที่แสดงสัญลักษณ์เหล่านี้ จะเป็นเหล็กที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งในรูปของสินค้าสำเร็จรูป หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่เรียกว่าเหล็กแท่ง (Billet) ซึ่งจะต้องนำมาผ่านกระบวนการรีดลดขนาดเพื่อเป็นเหล็กเส้นก่อสร้างต่อไป ส่วนเตา IF เป็นเตาที่เพิ่มเข้ามาในมาตรฐานฉบับนี้ เป็นเตาที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการเหนี่ยวนำ เพื่อหลอมเหล็ก 

ขณะที่เตา EF เป็นเตาหลอมที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเหล็กมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานฉบับใหม่ บังคับให้ผู้ผลิตแสดงเตาหลอมที่ใช้เป็นตัวนูนเพิ่มขึ้นมาในเนื้อเหล็กเท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคที่เลือกใช้เหล็กเส้นก่อสร้างที่มีตัวนูน EF มั่นใจได้ว่าจะได้เหล็กเส้นก่อสร้างที่มีคุณภาพดีดังเดิมที่เคยใช้อยู่ ซึ่งข้อดีของเตา EF ที่ต่างจากเตาอื่น ๆ คือเตาชนิดนี้สามารถขจัดสารปนเปื้อนในเนื้อเหล็กได้ สามารถควบคุมค่าเคมีที่ส่งผลต่อคุณภาพและความแข็งแรงของเหล็กได้ดี เป็นเตาหลอมที่มีการปล่อยมลพิษน้อยกว่า รวมถึงใช้พลังงานในการหลอมน้อยกว่าเตาบางชนิด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นเตาหลอมที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก  

นายชัยเฉลิม อุปนายกสมาคมฯ อธิบายต่อว่า  ในการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างโดยทั่วไป ไม่ว่าจะใช้เตาหลอมชนิดใด จะใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบ  ซึ่งเศษเหล็กมักจะมีสารมลพิษเจือปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฟอสฟอรัส, กำมะถัน, โบรอน ฯลฯ ที่ส่งผลต่อคุณภาพและความแข็งแรงของเหล็กเส้นดังที่กล่าวมา ซึ่งในการหลอมเหล็กด้วยเตา EF ของกลุ่มสมาคม จะมีกระบวนการในการขจัดสารมลพิษเหล่านี้ออกไป ทำให้เหล็กที่ผลิตออกมามีความสะอาดขึ้น เนื้อเหล็กแน่น จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องคุณภาพ ตามมาตรฐานใหม่