นายกฯ ปาฐกถาที่ CLMVT Forum 2018 กระตุ้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างโอกาสธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 17 ส.ค. 2561
  • Share :

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน CLMVT Forum 2018 ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้แนวคิด “ทะยานสู่อนาคตด้วยการใช้เทคโนโลยี” (CLMVT Taking-Off Through Technology) ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMVT อันได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างเครือข่ายของผู้นำทางธุรกิจ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ในภูมิภาค CLMVT ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน โดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การทะยานสู่อนาคตของภูมิภาค CLMVT ด้วยเทคโนโลยี” โดยกล่าวว่า กลุ่ม CLMVT ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในฐานะภูมิภาคที่มีศักยภาพทางการค้าและการลงทุน ดังจะเห็นได้จากนโยบาย Look East ของชาติตะวันตกและอินเดีย รวมถึงนโยบาย Look South ของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดังนั้น CLMVT Forum จึงเป็นเวทีในการหารือทิศทางอนาคตร่วมกัน และส่งเสริมความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อภายใน CLMVT (seamless connectivity) ควบคู่กับความร่วมมือกับนานาประเทศ ด้วยการนำของภาคเอกชนและวิชาการเป็นหลัก เพื่อปรับตัวรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันที่เชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าจากภูมิภาคสู่ตลาดโลก โดยภาคเอกชนและวิชาการจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมและใช้นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นแกนกลางประสานภาคส่วนต่างๆ  ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โลกได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นยุคแห่งการหลอมรวมของเทคโนโลยีหลายสาขา ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีกายภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้วิถีชีวิตและการทำธุรกิจเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรมหรือบริการ CLMVT จึงต้องพร้อมกันยกระดับศักยภาพทางเทคโนโลยีให้ได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ เทคโนโลยีมีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการผลิต รวมทั้งกระบวนการก่อนและหลังการผลิต โดยธุรกิจจะเติบโตด้วยการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ทดแทนการผลิตสินค้าปริมาณมากด้วยแรงงานราคาถูกที่จะหมดความสำคัญลง เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยทำให้ธุรกิจสร้างสรรค์สินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย (customization) ได้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน และในบริบทของ CLMVT เทคโนโลยีสามารถถูกนำมายกระดับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ในส่วนของภาคธุรกิจควรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจ (digital transformation) เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การออกแบบและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค การผลิตสินค้าและบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การกระจายสินค้าและการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม รวมถึงการให้บริการหลังการขายที่สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้ลูกค้าได้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันของตนเองในยุคเศรษฐกิจใหม่ได้

ในขณะเดียวกันกระบวนการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (digital transformation) ได้ส่งผลให้เกิดการค้ารูปแบบใหม่ มีการทำการค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการค้าในรูปแบบใหม่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบขนส่งโลจิสติกส์ และการชำระเงินข้ามพรมแดนแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งการพัฒนาความเชื่อมโยงทางระบบดิจิทัลระหว่างประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยภาครัฐควรปลดล็อคและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ

ภาคบริการเป็นอีกสาขาหนึ่งที่จะเปลี่ยนรูปแบบไป ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เห็นได้ชัดจากภาคบริการทางการเงิน จากการเข้ามาของธุรกิจฟินเทค นอกจากนี้ ธุรกิจบริการอื่นๆ ก็กำลังเร่งปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก่อให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังก่อให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่จะได้รับการบริการที่รวดเร็ว สะดวก และราคาถูกลง ดังนั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐก็ต้องปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นกัน เพื่อปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อรองรับธุรกิจใหม่

ในส่วนของธุรกิจด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความรู้สึก เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงของภูมิภาค CLMVT เนื่องจากภูมิภาค CLMVT เป็นที่รู้จักของทั่วโลกถึงความคิดสร้างสรรค์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นคำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปพัฒนาหรือเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อเติมเต็มศักยภาพของธุรกิจสร้างสรรค์ให้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องเติบโตควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของธุรกิจหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเข้ามาสร้างโอกาสให้กลุ่มเหล่านี้สามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด และช่วยเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังต้องสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ๆ ให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาค

ความท้าทายของ CLMVT ในบริบทของเศรษฐกิจยุคใหม่ คือจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียุคใหม่นี้ ในการเติบโตไปด้วยกันได้อย่างไร ทุกประเทศใน CLMVT จึงควรสร้างเครือข่ายและพัฒนาผู้ประกอบการในเรื่องทักษะทางการค้าในยุคดิจิทัลร่วมกัน พร้อมทั้งมีการส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมด้านการค้าแบบดิจิทัลร่วมกันทั้งภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการมีแพล็ตฟอร์ม e-commerce ของภูมิภาค การมีระบบขนส่งโลจิสติกส์ การชำระเงินข้ามพรมแดน และความสอดคล้องของมาตรฐานและระบบปฏิบัติการระหว่างประเทศ ซึ่งระบบที่มีประสิทธิภาพนี้ นอกจากจะเพิ่มบทบาทแพล็ตฟอร์ม e-commerce ของภูมิภาคแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงและขยายตลาดออนไลน์ให้สินค้าและบริการของ CLMVT กับ Global E-Marketplace ของต่างประเทศด้วย

นอกจากการสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกันภายในภูมิภาคในเรื่องเศรษฐกิจใหม่และเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว CLMVT ต้องแสวงหาและพัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (strategic partnership) กับประเทศที่มีศักยภาพนอกกลุ่ม เช่น จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ฯลฯ ซึ่งมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้ากว่า เพื่อเติมเต็มมูลค่าและเป็น Best Practice ให้กับภูมิภาค CLMVT ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่สากล (local to global) และการเติบโตอย่างสมดุล (balanced growth) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive growth) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พลเอกประยุทธ์ยืนยันว่าประเทศไทยยึดมั่นในหลักการ stronger together โดยการเคารพและเกื้อกูลกันแบบทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win) รวมถึงการกระจายโอกาสให้ทั่วถึง (inclusive growth) ดังนั้น การแข่งขันและความร่วมมือจะต้องดำเนินควบคู่กันไปอย่างสมดุล จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และนำไปสู่การเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน