344-โควิด-จํานองเครื่องจักร-เอกชน-กรมโรงงาน

แห่จำนองเครื่องจักรหมื่นล้าน กรอ.เตรียมรับมือเอกชนกระอักพิษโควิด

อัปเดตล่าสุด 19 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 1,191 Reads   

เอกชนอ่วม แห่จำนำเครื่องจักร กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมลงนาม MOU จับมือสถาบันการเงิน พ.ค. 2563 นี้ เปิดโครงการจำนองเครื่องจักร ค้ำประกันช่วยผู้ประกอบการกู้เงินผ่านแบงก์ รายละ 200,000-1,000,000 บาท เยียวยาพิษโควิด-19 หลังพบไตรมาสแรก 46 ราย จำนองเครื่องจักรแล้ว 15,134 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มอีกช่วงครึ่งหลัง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กและรายกลาง หรือ SMEs อย่างมาก ดังนั้น กรอ.จึงเตรียมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำเครื่องจักรมาแปลงเป็นสินทรัพย์ ใช้เป็นเงินทุนนำกลับมาใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจได้

โดยหลักการในโครงการดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องนำเครื่องจักรไปจดทะเบียนเครื่องจักร ภายใต้ พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร ของ กรอ. จากนั้นจะมีการประเมินราคาเครื่องจักร เพื่อนำไปเป็นตัวค้ำประกัน ผ่านกลไกของสถาบันการเงินที่เข้าร่วม โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้ เบื้องต้นกำหนดกรอบเงินกู้ไว้ที่รายละ 200,000-1,000,000 บาทแต่ละรายจะได้รับวงเงินอนุมัติแตกต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการประเมินราคาเครื่องจักรเป็นหลัก

“เรารับทราบผลกระทบของผู้ประกอบการ ตอนนี้เตรียมคุยกับแบงก์ทั้งรัฐและเอกชน ให้เขาเป็นผู้มาปล่อยกู้โดยมีเครื่องจักรเป็นตัวค้ำประกัน มันจะง่ายกว่าปกติ เพราะเขาจะรู้ว่ามีแบงก์ไหนรับอยู่ในโครงการนี้บ้าง และอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขมันจะไม่เข้มเท่ากับปล่อยกู้ในตอนปกติ ซึ่งเราต้องพยายามช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เขาเข้าถึงระบบกู้นี้ และดำเนินธุรกิจอยู่ต่อให้ได้ แต่ทั้งนี้การจดทะเบียนเครื่องจักรอยู่ที่ผู้ประกอบการจะทำหรือไม่ และไปเข้าโครงการช่วยเหลือ SMEs มาตรการอื่น ๆ ได้เช่นกัน”

คาดว่าภายในเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.นี้ จะลงนาม MOU แล้วเสร็จ จากนั้นจะประกาศให้ผู้ประกอบการรับทราบ ทั้งรายชื่อสถาบันการเงินที่เข้าร่วม หลักเกณฑ์ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระคืน ถือเป็นการเริ่มโครงการได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรอ.เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นจำนองเครื่องจักรอยู่แล้ว และมีหลากหลายอุตสาหกรรม หลายธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วน รูปแบบจะเป็นไปในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันกับครั้งนี้ โดยผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาจดทะเบียน ตีราคา ให้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ยื่นกู้ต่อสถาบันการเงิน แต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินนั้น ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการและ SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือวงเงินที่น้อยเกินไป

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า จากการรายงานของสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง พบว่า ตั้งแต่เดือน 1 ม.ค.-8 เม.ย. 2563 มีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนเครื่องจักรทั้งสิ้น 276 ราย เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนวน 1,516 เครื่อง มูลค่า 72,432 ล้านบาท และจากสถิติช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2563) พบว่า

มีจำนวนผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาจำนองแล้ว มูลค่า 15,134 ล้านบาท จำนวน 46 ราย อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว (ม.ค.-มี.ค. 2562) ซึ่งมีการจำนองเครื่องจักรถึง 30,282 ล้านบาท จำนวน 37 ราย สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม แม้ในปีนี้จะลดลง แต่คาดว่าผลกระทบจากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 การชะลอของเศรษฐกิจ

ภัยแล้ง อาจจะทำให้ยอดจำนองเครื่องจักรเพิ่มขึ้นในข่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น รัฐจึงต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการมากที่สุด โดยตัวเลขการจำนองเครื่องจักรทั้งปี 2562 มูลค่า 157,075 ล้านบาท จำนวน 144 ราย ซึ่งเป็นครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 46,287 ล้านบาท จำนวน 61 ราย และจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง(ก.ค.-ธ.ค.) ซึ่งอยู่ที่ 110,788 ล้านบาท จำนวน 83 ราย

อ่านต่อ: 
ก.อุตฯ เตรียมชง ครม. “งดเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน" กว่า 231 ลบ. ช่วยผู้ประกอบการ 56,000 ราย พ้นสถานการณ์ Covid-19